กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มท.1 สั่งการ ปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยเชื่อมโยง การดำเนินงานอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ จัดลำดับความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับกิจกรรมการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ เน้นการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งน้อยที่สุด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานตั้งแต่วันที่ 20ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 33 จังหวัด 189 อำเภอ 1,057 ตำบล 9,506 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสำรวจปริมาณน้ำ จัดทำพื้นที่เสี่ยง ภัยแล้ง กำหนดแผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่ครอบคลุมทุกมิติ จัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ในระบบชลประทาน การปฏิบัติการฝนหลวง การขุดเจาะบ่อบาดาล รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ โดยจัดสรรกิจกรรมการใช้น้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง สำหรับพื้นที่ 31 จังหวัดที่ประสบปัญหา ภัยแล้งซ้ำซากให้เร่งสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตร (พืชสวน) ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในห้วง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2558 เพื่อป้องกันมิให้พืชสวนได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ภัยแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง แบ่งการดำเนินงานเป็น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) การแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จัดรถบรรทุกน้ำ จำนวน 238 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 23 คัน ออกให้บริการแจกจ่ายน้ำ จำนวน 7,818 เที่ยว รวมปริมาณน้ำ 41,138,200 ลิตร 2)การสนับสนุนน้ำดิบแก่พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จัดเครื่องสูบน้ำ 52 เครื่อง รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล จำนวน 23 คัน สูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบไปยังถังเก็บน้ำกลางประจำ หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง 3) การจัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตร คาดว่าพื้นที่สวนจะได้รับผลกระทบ 5,725,896 ไร่ เสียหายจำนวน 639,300 ไร่ ซึ่งจะได้เร่งจัดสรรน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร 4) การสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการซ่อม/สร้างทำนบและฝายเก็บน้ำ จำนวน 296 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 10 แห่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง 5) การดำเนินโครงการฟื้นฟูบูรณะแหล่งน้ำเดิม แก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง โดยดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำและปรับปรุงสภาพลำน้ำที่ตื้นเขินในพื้นที่ประสบภัยแล้งและอุทกภัยซ้ำซากทุกจังหวัด รวมจำนวน 776 โครงการ เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 627,209 คนทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งน้อยที่สุด