กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ระดับ ‘BBB+’ อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘A-’ และอันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (International Short-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘F2’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ปตท. ในปี 2558 น่าจะอ่อนแอลง แต่ยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ระดับ ‘A-’ ซึ่งเป็นอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. ถูกกดดันจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดความแข็งแกร่งลง เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หามาทดแทนมีน้อยกว่าปริมาณการผลิตในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตลดลงเหลือประมาณ 6 ปี ณ สิ้นปี 2557
อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท. ถูกจำกัดอยู่ที่ ‘BBB+’ ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของปตท. โดยถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
แรงกดดันจากรายได้ที่ลดลง – อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ปตท. ในปี 2558 จะได้รับผลกระทบจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง และความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนที่ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่าในปี 2558-2559 ซึ่งยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.ที่ระดับ ‘A-’ ที่สะท้อนถึงการเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง - สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 (หรือประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท) ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมของ ปตท. ในปี 2557 โดยในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 73 (หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) มาจากธุรกิจการขายก๊าซธรรมชาติให้ผู้ผลิตไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจการขนส่งผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ โดยกำไรจากธุรกิจเหล่านี้จะถูกกระทบน้อยจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายรวมของ ปตท. ในปี 2557 นั้น ร้อยละ 69 ของปริมาณการผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติซึ่งจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ระดับราคาที่ลดลงของก๊าซธรรมชาติน่าจะน้อยกว่าระดับราคาที่ลดลงของน้ำมัน นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่า ปตท. น่าจะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หน้าโรงแยกก๊าซ และราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) การปรับขึ้นราคาดังกล่าวน่าจะทำให้ปตท. มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นประมาณ 490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยใช้สมมุติฐานจากปริมาณการจำหน่าย LPG และ NGV เทียบเท่าปี 2557
แผนการลงทุนที่ยังคงสูง – ปตท. มีแผนที่จะปรับลดแผนการลงทุนตามราคาน้ำมันที่ลดลง โดยงบลงทุนเดิมของบริษัท ปตท.เอง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2558-2562) ซึ่งอยู่ที่ 3.27 แสนล้านบาทจะถูกปรับลดลงประมาณร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผนการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่สูงขึ้น (จากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) เงินลงทุนในงบรวมของ ปตท. ในปี 2558 น่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าในปี 2557 ปตท. มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนโดยรวมที่จำกัดกว่าบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใช้เปรียบเทียบในการจัดอันดับเครดิต เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ต่ำกว่าปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ลดลง – ปตท. มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หามาทดแทน และปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิต ต่ำกว่าบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใช้เปรียบเทียบในการจัดอันดับเครดิตมาก และปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ประมาณ 6 ปียังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘BBB’ บริษัทฯมีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่พิสูจน์ในจำนวนที่สูงกว่ามาก แต่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและเวลาในการพัฒนา ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.ได้
บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ – อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของ ปตท. ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นตัวจักรสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยอีกด้วย
บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรขนาดกลาง - อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรของบริษัทฯ โดยขนาดของธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการจัดอันดับเครดิตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของปตท. เทียบเคียงได้กับบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตสูงในกลุ่ม ‘BBB’ ยกเว้นตัวเลขทางด้านปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิต
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- ราคาน้ำมันตามประมาณการราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของฟิทช์ตามรายงาน “Fitch Oil and Gas Assumptions Summary” ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ 2558
- ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในปี 2558 แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง
- แผนการลงทุนประมาณร้อยละ 7-9 ของยอดขายในปี 2558-2560
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
-การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทย
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เผชิญแรงกดดัน และขนาดของธุรกิจปตท.เมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘A’
ปัจจัยลบ:
-การปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทย
ปัจจัยลบที่อาจมีผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.
-การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.
-การลงทุน/การเข้าซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ยืมในจำนวนที่สูง และ/หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่สูงกว่า 2.25 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2557 อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวอยู่ที่ 1.2 เท่า)
-ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า
- EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 ของ EBITDA รวมของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทย ฟิทช์จะพิจารณาให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ ปตท. เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนของภาครัฐ ต่อ ปตท. ในทางอ้อม (Implicit Support) ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)
สำหรับอันดับเครดิตของประเทศไทย มีปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ซึ่งได้แสดงไว้ในรายงานเครดิตลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ดังนี้
ปัจจัยลบ:
-การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic)
-ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก
-การเพิ่มขึ้นอย่างมากและอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนหนี้สินของภาครัฐ
-ภาระรับผิดชอบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่เกิดจากหนี้สินสาธารณะในภาพกว้างและหนี้สินภาคเอกชนที่สูง
ปัจจัยบวก:
-การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยไม่เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค ที่ทำให้รายได้ของประเทศใกล้เคียงกับประเทศที่มีอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘A’
-การแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกทางสังคมและการเมือง ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศและการพัฒนาประเทศ