กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--อาร์ค เวิลด์ไวด์
พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) หรือ พีแอนด์จี ประเทศไทยเป็นองค์กรเอกชนรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้าร่วมโครงการระดับโลก HeForShe เพื่อประกาศถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ภายในองค์กรและกลุ่มธุรกิจในเครือ รวมถึงการรณรงค์ให้ผู้ชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในประเทศไทยสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย
มร.ราอูล ฟอลคอน กรรมการผู้จัดการ บริษัทพีแอนด์จี ประเทศไทย เปิดเผยว่า “พีแอนด์จีเล็งเห็นความสำคัญ ในการสร้างความเสมอภาคในองค์กรที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ ศาสนา และเพศ ซึ่งพีแอนด์จีจึงเข้ามาสนับสนุน ยูเอ็น วีเมนเพื่อส่งเสริม ความเสมอภาคทางเพศและการแสดงพลังของสตรี”
โรเบอร์ตา คลาร์ก ผู้อำนวยการ ยูเอ็น วีเมนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวยกย่องพีแอนด์จีในความพยายามที่ตอบสนองความเสมอภาคทางเพศและให้ความเคารพต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย “การเคลื่อนไหวของสตรีเพียงด้านเดียวคงไม่เพียงพอ หากแต่ฝ่ายชายต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้สังคมสงบสุข ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ชายหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่ระดับผู้นำ ไปจนถึงผู้มีอาชีพต่างๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนกัน ซึ่งช่วยสร้างกระแสสังคมและส่งต่อแนวความคิดไปยังผู้ชาย ให้มีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทอย่างเท่าเทียมกัน พีแอนด์จีเป็นองค์กรเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่เข้าร่วมลงทะเบียนสนับสนุนโครงการ HeForShe และ ยูเอ็น วีเมน ก็พร้อมที่จะร่วมงานกับ พีแอนด์จี เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งเด็กผู้ชายและผู้ชายจะตระหนักถึงความสำคัญของสตรี”
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ม.ล.ปรียพรรณ ศรีธวัช ร่วมรับฟังการเสวานา นอกจากนี้ยังมี สมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มาร่วมพูดคุยถึงสถิติและข้อมูลด้านความเสมอภาคทางเพศในสังคมไทย และแนวนโยบาย การแก้ไขปัญหาระดับชาติของรัฐบาล
“ปัจจุบันนี้ผู้หญิงได้มีการพัฒนาและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา ไปจนถึงบทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มากขึ้นเรื่อยๆแต่ยังคงก็มีสถิติบางอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่ ซึ่งการพัฒนานี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ชายอีกทางหนึ่งด้วย เพราะโลกนี้ผู้ชายและผู้หญิงต้องอยู่ด้วยกัน ไม่มีเพศไหนที่อยู่ตัวคนเดียวได้”
ตามด้วย ไก่-วรายุฑ มิลินทจินดา ผู้จัดละครชื่อดังมาร่วมแสดงความเห็นฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานละคร พูดถึงความรับผิดชอบของผู้จัดละครในการนำเสนอภาพของสังคม อีกทั้งการสอดแทรกข้อคิดสะท้อนปัญหาสังคม “ จะเห็นได้ว่าในอดีต บทบาทของผู้หญิงในละครถูกเขียนออกมาให้เป็นช้างเท้าหลัง ไม่มีหน้าที่การงานอะไร แต่ในปัจจุบันผู้หญิงในละครนั้นถูกยกระดับให้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น โดยมีการพัฒนาการเขียนบทสื่อสารให้คนดูเห็นว่าผู้หญิงได้มีอาชีพที่เท่าเทียมกับผู้ชาย การดำเนินชีวิต มีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากจัดละครก็ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถช่วยสื่อสารในเรื่องของความเสมอภาคได้ นั่นก็คือนักเขียนนิยาย และผู้เขียนบทละคร ที่จะช่วยเขียนละครที่สนับสนุนให้สตรีได้แสดงออกถึงความเท่าเทียมกับผู้ชายได้”
ด้าน สู่ขวัญ บูลกุล เผยว่า “ปัจจุบันนี้ในสังคมที่พัฒนาและมีอิสรภาพมากๆ ได้มีการยอมรับความสามารถของผู้หญิงมากขึ้น และคิดว่าคำถามที่ว่าผู้หญิงจะทำได้หรือไม่นั้นคงไม่มี เพราะผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ หรือในองค์กรใหญ่ๆ ปัญหาอยู่ที่ว่าทุกคนพร้อมที่จะให้ผู้หญิงเหล่านั้นแสดงความสามารถออกมาหรือไม่ สำหรับในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเจริญมาก ผู้หญิงเราก็ได้รับการยอมรับมาก แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงในพื้นที่ห่างไกล ยังคงต้องการโอกาสและความช่วยเหลืออีกเยอะ แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ควรจะปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ สำหรับการสอนลูกชายนั้น ขวัญไม่เชื่อในการพร่ำสอนและเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเห็น เมื่อเด็กได้รับรู้และเห็นถึงตัวอย่างที่ดีก็จะซึมซับและทำตาม ซึ่งสิ่งนี้ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ชายทางบ้าน ซึ่งสำหรับขวัญเค้าทำได้ดีมากค่ะ”
จากการจัดอันดับช่องว่างและความเสมอภาคระหว่างหญิงชายโดย World Economic Forum ในปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำและไม่เสมอภาคระหว่างเพศอยู่ในอันดับที่ 61 จากทั้งหมด 142 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ
กรรณิการ์ จรัสอุไรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท พีแอนด์จี ประเทศไทย กล่าวว่า “เวทีเสวนานี้มีความหลากหลายทางทัศนคติต่อความไม่เท่าเทียมทางเพศนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมบทบาทให้กับสตรี รวมถึงการได้รับประโยชน์ จากการพัฒนาประเทศ การเสวนาครั้งนี้ยังได้พูดถึงบทบาทหน้าที่ของบุคคลในสังคมและสาขาอาชีพต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยลดช่องว่างความเสมอภาคทางเพศให้แคบลงและลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สำหรับพีแอนด์จีแล้ว ก็มีนโยบายส่งเสริมให้มีการเคารพใน ความแตกต่างและชักชวนให้พนักงานดึงศักยภาพ ที่ต่างกันออกมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร โดยพีแอนด์ จี ได้มีการจัดอบรมฝึกฝนพนักงานเฉพาะด้าน เพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสและความก้าวหน้า ในอาชีพ ทำให้ในปัจจุบันนี้ พีแอนด์จีประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนผู้บริหารระดับอาวุโสที่เป็นผู้หญิงเท่ากับผู้บริหารระดับอาวุโสที่เป็นผู้ชายแล้ว”
“พีแอนด์จี มุ่งมั่นในการสนับสนุนโครงการระดับโลกอย่าง HeForShe อย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนผู้ชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว ไปพร้อมๆ กับนโยบาย Diversity & Inclusion ของพีแอนด์จีเพราะความเสมอภาคทางเพศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ชายแสดงพลังสนับสนุนร่วมกัน และเราจะสอดแทรกประเด็นนี้เป็นหัวใจสำคัญต่อการบริหารบุคลากรภายในองค์กร รวมถึงอยู่ในทุกๆ วาระ ทุกๆโครงการที่ พีแอนด์จีดำเนินนโยบายเพื่อสังคมในระยะยาวด้วย” กรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ขึ้น เพียงเข้าไปที่เว็บไซท์ www.heforshe.org และคลิ๊ก “ I agree” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสนับสนุน ติดตามดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.heforshe.org หรือ http://www.un.or.th