กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานแม่ฮ่องสอน จัดงานประเพณีปอยส่างลองยิ่งใหญ่ สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ... ปีท่องเที่ยววิถีไทย ๒๕๕๘
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) สำนักงานแม่ฮ่องสอน ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดงานยิ่งใหญ่สืบสานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี ๒๕๕๘ ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน ศกนี้ หรือ เดือนห้า โดยมีการรวมพลังบุญชาวไต (ไทยใหญ่) ด้วยการบรรพชาสามเณรหมู่ตามความเชื่อดั้งเดิม แสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาของชุมชนท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ประเพณีที่มีเอกลักษณ์ และ มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นให้คงอยู่ต่อไป
โดยเฉพาะขบวนแห่ ส่างลอง (แห่ครัวหลู่) ที่มีความงดงามตามแบบประเพณีโบราณชาวไต รวมถึงพิธีกรรมพุทธศาสนา หรือวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ประเพณีปอยส่างลอง จึงได้รับความสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกับประสบการณ์ใหม่ๆ และมีโอกาสร่วมทำบุญสืบสานงานประเพณี ในเทศกาลที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย
สำหรับประเพณีปอยส่างลองในปีนี้ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์ ที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสืบทอดประเพณีดั้งเดิมของชาวไต จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้ปีท่องเที่ยววิถีไทย ๒๕๕๘ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- วันที่ ๒๐ – ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ วัดปางหมู
- วันที่ ๑ – ๔ เมษายน ๒๕๕๘ ณ วัดจอคำ
- วันที่ ๓ – ๖ เมษายน ๒๕๕๘ ณ วัดหมอกจำแป่
- วันที่ ๘ – ๑๑ เมษายน ๒๕๕๘ ณ วัดบ้านห้วยขาน
อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- วันที่ ๑ – ๓ เมษายน ๒๕๕๘ ณ วัดป่าขาม
อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- วันที่ ๒ – ๕ เมษายน ๒๕๕๘ ณ วัดศรีบุญเรือง
วันแรก เรียกว่า วันรับส่างลอง
ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลองด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่างๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่นๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการ เขียนคิ้ว ทาปาก สีแดง และสวมถุงเท้าสีขาว ถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว พระสงฆ์ให้ศีลให้พรอบรมสั่งสอน จากนั้น “ตะแปส่างลอง” หรือผู้ให้ขี่คอ นำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกั้นบังแดดให้ส่างลอง
วันที่สอง เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่
เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดปางล้อไปตามถนนสายต่างๆ ในช่วงเช้ามีผู้มีจิตศรัทธาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยง เรียกว่า “ตะแปส่างลอง” มีกลดทองหรือ “ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นมีการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไตที่วัดต่างๆ
วันที่ ๓ เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่
เป็นวันแห่งศรัทธา โดยบรรพชาอุปสมบทสามเณรหมู่และถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ และร่วมบุญโดยเจ้าภาพทุกคน ร่วมแรงร่วมใจ เสียสละสิ่งของ เงินทอง มาร่วมบุญด้วยศรัทธาอันยิ่งใหญ่ เพื่อมอบสิ่งดีงาม ศีลธรรม และคุณธรรมแก่ลูกหลานชาวไตเมื่อเติบใหญ่ หรือมุ่งดำเนินตามอริยมรรคสู่เส้นทางนิพพาน
รายละอียดการทำพิธี
วันแรกเป็นวันรับส่างลอง โดยนำเด็กที่เข้าร่วมอุปสมบทไปที่วัด เพื่อแต่งชุดส่างลองและรับศีล แล้วนำขบวนไปรับส่างลองตามวัดต่างๆ
วันที่สอง เป็นวันแห่โคหลู่ หรือวันแห่ไทยทาน แห่ตั้งแต่เวลา แปดโมงเช้าจากวัดเพื่อไปตามเส้นทางในจังหวัดตามที่มีการกำหนดเส้นทางไว้ ตอนเย็นกทำพิธีเรียกขวัญส่างลองและข่ามแขกหรือเลี้ยงวันรับแขก ในตอนเวลากลางคืนจะมีมหรสพสมโภชตามประเพณีไทยใหญ่
วันที่สามเป็นวันข่ามส่าง หรือวันหลู่ ซึ่งเป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์และเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงาน เป็นอันจบพิธี