กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ดับเบิ้ลลพราว
นายชยพล ภู่เจริญยศ ประธานชมรมแมวบริติชแห่งประเทศไทย (The British Cat Society of Thailand – BCT) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ไลฟ์สไตล์คนส่วนใหญ่หันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น โดยเฉพาะแมวสายพันธุ์บริติชและสก็อตติช ซึ่งเป็นแมวนำเข้าจากต่างประเทศ และมีการนำเข้ากันมากกว่า 100 ตัวในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยอดขายอาหารสัตว์ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมามีการเติบโตปีละ 10% เป็นดัชนีสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันว่าหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น
นายชยพลกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของชมรมแมวบริติชแห่งประเทศนั้น เกิดขึ้นหลังจากตนเองวางมือจากงานด้านตลาดทุน และเกิดความคิดอยากจะเลี้ยงแมวสายพันธุ์บริติช จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล และพบว่าข้อมูลเรื่องแมวที่มีอยู่ในประเทศไทยค่อนข้างไม่ชัดเจน และไม่มีใครสามารถตอบคำถามเรื่องแมวอย่างละเอียดได้ จึงไปติดต่อสหพันธ์แมวโลก หรือ World Cat Federation (WCF) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเยอรมันนี มีเครือข่ายการทำงาน 6 ทวีปทั่วโลก เป็นสถาบันควบคุมมาตรฐานแมวสายพันธุ์ต่างๆ โดยกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนเกิดแมว (หรือที่มักเรียกกันว่า “ใบเพ็ดดีกรี”) เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความถูกต้องของสายพันธุ์ให้แก่เจ้าของแมวนั้นๆ
นอกจากนี้ WCF ยังควบคุมการขึ้นทะเบียนผู้เพาะพันธุ์ (Breeder) เพื่อบริหารจัดการให้การขยายพันธุ์แมวเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์เพื่อการค้า ทางชมรม BTC ดำเนินกิจกรรมภายใต้ข้อกำหนดของ WCF และเลือกที่จะดูแลแมวสายพันธุ์บริติชเพียงสายพันธุ์เดียว มีสมาชิกประมาณ 100 รายในเบื้องต้น แต่ทาง WCF ต้องการให้ทางชมรม BTC ก่อตั้งชมรมขึ้นมาอีก 1 ชมรมเพื่อดูแลแมวให้ครบทุกสายพันธุ์ ดังนั้น ชมรม BCT จึงได้สร้างทีมงานขึ้นมาอีก 1 ชุดเพื่อก่อตั้ง ชมรมแมวสวยงามทุกสายพันธุ์ (The All-breed Glamorous Feline Club - AGC) ตามนโยบายของ WCF
นายจิรัฎฐ์ ขจีเศวตพันธ์ ประธานชมรมแมวสวยงามทุกสายพันธุ์ (AGC) เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมว กล่าวว่า ชมรม AGC ทำงานร่วมกับชมรม BCT ตามนโยบายของ WCF มีวัตถุประสงค์หลักเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ ชมรม AGC จะดูแลคุณภาพแมวทุกสายพันธุ์ ซึ่งทั้ง 2 ชมรมจะควบคุมจรรยาบรรณผู้เพาะพันธุ์แมว และออกใบเพ็ดดีกรีให้แก่แมวที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขของ WCF นอกจากนี้ ทั้ง 2 ชมรม จะมีกิจกรรมจัดงานประกวดแมวเครือข่าย WCF อย่างสม่ำเสมอทุกปี เป็นสื่อกลางช่วยเหลือแก้ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับแมวทุกสายพันธุ์ในสังคมไทย ภายใต้แนวคิด “แมวนอก ช่วยแมวไทย”
โดยภาพรวมแล้ว สมาชิกของทั้ง 2 ชมรมนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มคนที่เลี้ยงแมวไว้ดูเล่น กับ 2) กลุ่มคนที่ต้องการเลี้ยงเพาะพันธุ์เพื่อลงทุนสร้างรายได้ ซึ่งโดยนโยบายของ WCF นี้ จะช่วยปกป้องทั้งแมวและคน ให้แมวมีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันก็คุ้มครองเจ้าของแมว ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เนื่องจากคนขายหรือผู้เพาะพันธุ์แมวอาจประพฤติไม่เหมาะสม หลอกขายแมวโดยแอบอ้างใบเพ็ดดีกรีที่ไม่เป็นจริง หรือออกใบเพ็ดดีกรีให้ล่าช้า ซึ่งผู้บริโภคที่รักแมวต้องตกเป็นเหยื่อหลายราย
ทั้งนี้ ล่าสุดชมรมเครือข่าย WCF ในประเทศไทยได้จัดงานเปิดตัว WCF อย่างเป็นทางการในประเทศไทย พร้อมกับงานประกวดแมว "1st WCF Thailand National Show" การประกวดแมวของสหพันธ์แมวโลกในประเทศไทยครั้งที่ 1 โดยมีการนำแมวสายพันธุ์บริติชและสก็อตติช มาประกวดคุณภาพและความสวยงามกัน ในวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์