กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--สำนักงาน กกพ.
กกพ. เผยยอดผู้เข้าร่วมโครงการลดการใช้ไฟฟ้าในโครงการ Demand Response ครั้งที่ 1/2558 สูงสุดประมาณ 660 เมกะวัตต์ ประสบความสำเร็จเกินเป้า มั่นใจช่วงเมษายนปีนี้ ปริมาณไฟฟ้าเพียงพอ วอนประชาชนคนไทยร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคของทุกปี
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า “โครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 1/2558” เพื่อบริหารความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าในช่วงเหตุการณ์แหล่งก๊าซยาดานาและซอติก้าหยุดผลิต ในช่วงวันที่ 10 – 27 เมษายน 2558 มีภาคเอกชนจากทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวนรวมกว่า 800 ราย โดยมียอดเสนอลดใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 660 เมกะวัตต์ เกินเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ที่ 500 เมกะวัตต์
โครงการ Demand Response ที่ริเริ่มโดย กกพ. มาตั้งแต่ปี 2554 เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาโดยตลอด ซึ่งในครั้งนี้ กกพ. ได้ตั้งเป้าหมายกำลังไฟฟ้าที่ลดได้จำนวน 500 เมกะวัตต์สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และกำหนดปริมาณรับสมัครไว้ที่ 700 เมกะวัตต์ โดยมีการกำหนดคาบเวลาในการดำเนินมาตรการ Demand Response ในครั้งนี้ คือ 10.00 – 12.00 น. 14.00 – 17.00 น. และ 19.00 – 22 .00 น. ของวันที่ 10 17 18 และ 20 ของเดือนเมษายน 2558 ผลการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2558 ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และ Hypermart โดยมียอดเฉลี่ยเสนอลดใช้ไฟฟ้าในทุกช่วงเวลาเกินกว่า 500 เมกะวัตต์
“มาตรการ Demand Response ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการลดกำลังการใช้ไฟฟ้าอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจในมาตรการ กลไก และประโยชน์ของ Demand Response ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ กกพ. ที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการลดกำลังการใช้ไฟฟ้า ให้สามารถใช้มาตรการ Demand Response ได้จริงเมื่อระบบไฟฟ้าประสบภาวะต้นทุนสูงหรือภาวะวิกฤติในอนาคต ที่ผ่านมา กกพ. ได้คำนึงและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกำลังการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเป็นสำคัญ” นายวีระพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในครั้งนี้โครงการ Demand Response จะได้รับการตอบรับเข้าร่วมโครงการจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี แต่ในส่วนของประชาชนเองก็สามารถที่จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ระบบไฟฟ้ามีความเสี่ยงด้านความมั่นคงในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีได้เช่นกัน ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของโครงการ Demand Response ที่ต้องบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า โครงการ Demand Response นับว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การดำเนินโครงการในครั้งนี้จึงเป็นการขอความร่วมมือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการลดใช้ไฟฟ้า เพื่อซักซ้อมความเข้าใจมาตรการ กลไก และประโยชน์ของ Demand Response รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการประหยัดไฟฟ้าและลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย