กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ไอเดีย คอมมิวนิเคชั่น
ความเสื่อมสภาพของร่างกายจากอายุที่มากขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเลี่ยงพ้น โดยเฉพาะ ‘ดวงตา’ ที่จะลดประสิทธิภาพการมองเห็นลงโดยสังเกตได้ชัดเมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัย 40 ปี ภาวะ ‘ต้อกระจก’ เป็นอีกหนึ่งโรคทางสายตาซึ่งเกิดในผู้สูงอายุ การตรวจพบต้อกระจกในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่หากปล่อยให้ลุกลามโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีแล้ว ต้อกระจกก็จะส่งผลรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้
นพ.เอกชัย ภาคสุวรรณ จักษุแพทย์ด้านต้อกระจก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ต้อกระจก คือภาวะที่เลนส์ตาเกิดการขุ่นมัว ส่งผลให้การหักเหของแสงที่เดินทางไปยังจอประสาทตาผิดเพี้ยน หรือทำให้แสงผ่านเข้าไปได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงเห็นแสงน้อยลงกว่าปกติ มองเห็นได้ไม่ชัดเจน และการรับรู้สีสันเปลี่ยนไป โดยต้อกระจกส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดต้อกระจกได้ก็เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การใช้ยาบางชนิดเช่นสเตียรอยด์ หรือเลนส์ตาได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ รวมถึงการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) สะสมในปริมาณมาก
ความแตกต่างของอาการต้อกระจกในแต่ละคนขึ้นอยู่ที่เลนส์ตานั้นขุ่นมัวมากน้อยเพียงใด ระยะแรกผู้เป็นต้อกระจกอาจรู้สึกเพียงแค่มองเห็นไม่ชัด แต่เมื่ออาการมากขึ้นภาพที่เห็นก็จะยิ่งพร่ามัวลง สีสันของสิ่งต่าง ๆ จะทึมเทาไม่สดใส คล้ายการมองผ่านกระจกฝ้า บ้างมองเห็นเป็นภาพซ้อน หรืออาจมองไม่เห็นเลยในที่ที่มีแสงสว่างมาก ๆ จนกระทั่งต้อกระจกสุกเต็มที่แล้ว ภาพที่ผู้ป่วยมองเห็นจะเป็นเพียงฝ้าขาวที่บริเวณกลางรูม่านตา หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาจะทำให้มองไม่เห็นหรือเกิดสภาวะตาบอดชั่วคราว
การรักษาต้อกระจกทำได้โดยผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งจะเปลี่ยนเอาเลนส์ที่ขุ่นมัวออกแล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน วิธีการทั่วไปที่ทำกันได้แก่ Extracapsular cataract extraction คือการผ่าตัดเปิดแผลขนาดราว 10 มิลลิเมตร เพื่อล้างเอาเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพออกมาทั้งชิ้น แล้วเปลี่ยนใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน หรืออีกวิธีหนึ่งได้แก่ Phacoemulsification คือ การผ่าตัดแผลเล็ก โดยใช้มีดเปิดแผลที่บริเวณขอบกระจกตาดำประมาณ 1.5 – 3 มิลลิเมตร ของผู้ป่วยแล้วสอดเครื่องมือเข้าไปดูดสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวนด์ จากนั้นจึงใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปทดแทน
ปัจจุบันมีวิธีการรักษาซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยต้อกระจกโดยใช้ ‘Femtosecond laser' ช่วยในการผ่าตัดหรือที่เรียกว่า การผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ โดยนำเลเซอร์เข้ามาช่วยทำให้การเปิดถุงหุ้มเลนส์มีขนาดตามต้องการดีขึ้นและใช้ช่วยในการตัดแบ่งเลนส์ให้เป็นชิ้นเล็กลง ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยในการคำนวณการตัดเนื้อเยื่อ โดยจะทำงานร่วมกับเครื่อง Optical Coherence Tomography ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพดวงตาที่ให้ภาพซึ่งมีความละเอียดสูง โดยเครื่องจะวัดองศาเพื่อวางเลนส์ให้อยู่ตรงตามตำแหน่งที่คำนวณไว้ ก่อนจะใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ของเก่าที่ขุ่นมัว
สิ่งที่คนไข้ต้องพึงระวังในการดูแลตนเองหลังผ่าตัดต้อกระจก คือป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากสิ่งสกปรกในช่วง 24 ชั่วโมงแรก โดยเฉพาะจากมือและน้ำ จึงไม่ควรจับหรือขยี้ตา รวมถึงไม่ควรล้างหน้าและสระผมใน 5 วันหลังผ่าตัด ขณะที่กิจกรรมอื่น ๆ สามารถทำได้ตามปกติ
เนื่องจากการเกิดต้อกระจกในแต่ละคนนั้นต่างกัน วิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดจึงได้แก่การตรวจดวงตาตามวาระที่กำหนด โดยเด็กเล็ก ๆ ควรเริ่มตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าโรงเรียน แล้วตรวจอีกครั้งช่วงอายุ 12 - 13 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่สายตามีการเปลี่ยนแปลงมาก จนถึงช่วงอายุ 18-40 ปี สายตาจะค่อนข้างคงที่ ควรตรวจ 3 - 5 ปีต่อครั้ง แล้วเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจปีละ 1 ครั้ง และสำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจพบว่ามีแนวโน้มของโรคใดโรคหนึ่ง คนไข้ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ทันที หรือผู้ที่ตรวจพบว่ามีอาการของโรคมากแล้ว ก็ต้องรับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโดยตรง เพื่อให้การรักษาได้ผลดีและปลอดภัยที่สุด