กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
กรมชลประทานเดินหน้าปรับปรุงอ่างฯห้วยหลวง จ.อุดรธานี เสริมสันเขื่อน ขุดหลอกดินปรับพื้นที่ใต้อ่างฯเพิ่มความจุให้เต็มศักยภาพได้ถึง 138 ล้าน ลบ.ม. มั่นใจสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค พร้อมเผยจะขยายพื้นที่ชลประทานได้เพิ่มขึ้นรวมกว่า 87,000 ไร่ นายวีระพงษ์ แต่งเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีแผนที่จะปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี โดยภายในปี 2558 จะทำการขุดลอกดินในอ่างฯบริเวณบ้านน้ำพ่น จะทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 37 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว นอกจากนี้ในปี 2559 ก็จะทำการขุดลอกอ่างฯห้วยหลวงเพิ่มเติม เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มอีก 1.5 ล้านลบ.เช่นกัน โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท
? ทั้งนี้พื้นดินใต้อ่างฯห้วยหลวง มีความสูงต่ำไม่เท่ากันตามสภาพเดิม ทำเก็บกักน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ จึงต้องทำการขุดลอกเพื่อปรับหน้าเขื่อนให้เสมอกัน ประกอบกับอ่างฯห้วยหลวงก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513 อาจจะมีสภาพดินตกตะกอนบ้างจึงต้องทำการขุดลอกออกพร้อมๆกับปรับสภาพพื้นที่ดังกล่าว
?อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในปี 2556 กรมชลประทานได้ทำการเสริมสันเขื่อนเพิ่มขึ้น 50 เซนติเมตร ทำให้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีก 18 ล้านลบ.ม.ม. จากเดิมที่สามารถเก็บกักได้สูงสุด 117 ล้านลบ.ม. ดังนั้นเมื่อรวมกับการขุดลอกอ่างฯ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 แล้วจะทำให้อ่างฯห้วยหลวงสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 138 ล้านลบ.ม. และจะสามารถส่งน้ำให้พื้นเกษตรกรรมในเขตชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิม 40,000 ไร่ เป็น 87,000 ไร่ในฤดูฝน และ 25,000 ไร่ในฤดูแล้ง
? นอกจากนี้ยังจะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการผลิตน้ำประปา และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.บ้านผือ อ.กุดจับ อ.หนองวังซอ และอ.หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ซึ่งจะได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 40 ล้านลบ.ม. รวมทั้งยังช่วยรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ และป้องกันอุทกภัยในเขตจ.อุดรธานี ตลอดจนทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำประมงอีกด้วย “อ่างฯห้วยหลวงทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรประมาณปีละ 874 ล้านบาท โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 เป็นที่นิยมบริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก มีราคาสูง นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักจำพวกข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผักคะน้า และมีการปลูกไม้ผล ได้แก่ มะม่วง ซึ่งเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีอยู่ทั่วไป รวมไปถึงไม้ดอก ไม้ประดับ ได้แก่ ดาวเรือง เบญจมาศและเยอบีร่า โดยส่งขายให้กับตลาดทั้งในเขต จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และจังหวัดใกล้เคียงเช่นกัน” นายวีระพงษ์กล่าว
? ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำของอ่างฯ ห้วยหลวงในปีนี้ ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาณทั้งสิ้น 67.3 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณเก็บกัก ซึ่งถือว่ามีค่อนข้างน้อย จึงประกาศงดส่งน้ำเพื่อทำนาปรังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมา และเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี