กรุงเทพฯ--15 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ OKMD ระบุสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ไทย รูปแบบเดิมล้นตลาด(Oversupply) คือต้นตอสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุน เร่งเผยแพร่งานวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อชี้ช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ได้สอดคล้องตรงตามทิศทางความต้องการของผู้บริโภค พร้อมแนะแนวทางการผลิตสินค้าให้โดนใจผู้บริโภคโดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาหรือเพิ่มฟังชั่นใหม่ๆ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูง แต่ยังไม่มีการผลิตออกมาวางจำหน่าย(Unmet Demand) เช่น การผลิตขนมปังแครกเกอร์จากข้าวหอมมะลิไทย ส่งไปขายยังตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งมีความต้องการสินค้าประเภทนี้สูงมาก เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคที่แพ้กูลเตนจากแป้งสาลี เชื่อสามารถทำรายได้สูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากปีละ 10,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท ชี้การวางกลยุทธ์ในลักษณะนี้ ในภาพรวมจะช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตทางธุรกิจ OTOP ในอนาคตได้อย่างก้าวกระโดด 30-40% จากมูลค่าโดยรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในปัจจุบัน ดันรัฐหนุนปัจจัยเสริมด้านต่างๆ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งวัตถุดิบต้นทุนต่ำ แหล่งเงินทุนสำรอง และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ถาวร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเป้าหมาย สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.okmd.or.th
นายรักชัย เร่งสมบูรณ์ อุปนายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน ที่ปรึกษาโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ OKMD เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ไทย กำลังประสบปัญหาล้นตลาด(Oversupply) อันเป็นผลมากจาก การที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นผลิตสินค้าขายดีเป็นหลัก ซึ่งโดยมากมักเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันทำให้ขายไม่ได้ราคา ในระยะยาวผู้ประกอบการจึงประสบปัญหาขาดทุน และไม่สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในปัจจุบัน ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของการทำวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในและต่างประเทศ ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ จึงต้องการชี้ช่องทางให้กับผู้ประกอบการได้เห็นถึงแนวทางพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ โดยเน้นศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ได้ตรงกับความต้องที่แท้จริงของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย รวมทั้งเป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการตั้งราคาให้เหมาะสมกับประเภทและคุณค่าผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด
ทั้งนี้ สำหรับกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า สินค้าอะไรที่มีศักยภาพสูงในการแข่งขันในตลาดแต่ละแห่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการบริโภคที่มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่เคยมีการผลิตหรือพัฒนาฟังชั่นใหม่ๆ ไปวางขาย(Unmet Demand) เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดด อย่างเช่นในขณะนี้สินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ไทย ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาแปรรูปและเครื่องดื่ม เป็นที่นิยมและขายดีมากในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ดังนั้นหากผู้ประกอบการต้องการเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้สูงขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือเริ่มจากการศึกษาว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนที่นั่นเป็นอย่างไร พร้อมกับสำรวจชนิดและประเภทสินค้าขายดีและเป็นที่นิยม จากนั้นจึงย้อนกลับมาดูว่าตัวผู้ประกอบการมีวัตถุดิบอะไรที่เป็นจุดเด่น และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าได้โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุน
ตัวอย่างเช่น การทำขนมปังแครกเกอร์จากข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่ยอดมรับในระดับโลกไปวางขาย เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคที่แพ้กูลเตนจากแป้งสาลี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ตามแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริโภคของคนในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งการวางกลยุทธ์และดำเนินการตลาดในลักษณะนี้ จะสามารถช่วยเพิ่มการเติบโตของตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ได้อย่างก้าวกระโดด โดยกรณีของขนมปังแครกเกอร์อาจทำรายได้สูงถึงปีละ 20,000 ล้านบาท แต่หากผู้ประกอบการไทยยังคงเน้นผลิตและขายแบบเดิม เช่น การส่งข้าวแต๋นซึ่งไม่ใช้สินค้าบริโภคหลักของชาวต่างชาติไปขาย ก็อาจทำยอดขายได้เพียงปีละ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น
นายรักชัย กล่าวด้วยว่า จากการคาดการณ์การเติบโตของสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ไทยในอนาคต หากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ สอดคล้องตามความต้องการของตลาดเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะสามารถเพิ่มการเติบโตของรายได้ในภาพรวมได้อย่างก้าวกระโดด โดยเชื่อว่าน่าจะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 30-40% แต่หากผู้ประกอบการยังดำเนินธุรกิจแบบเดิม โดยไม่มีการพัฒนาต่อยอดตามแนวทางข้างต้น มูลค่าตลาดอาจเพิ่มขึ้นเพียง 3-10% ซึ่งเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุน และปัจจัยการแข่งขันจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจากจีน เวียดนาม และพม่า อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถอยู่รอดได้ ทั้งนี้นอกจากการวางกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวแล้ว ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ควรเข้ามาสนับสนุนปัจจัยเสริมต่างๆ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เพื่อช่วยให้ผู้ประการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ให้สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างยั่งยืน