กรุงเทพฯ--15 เม.ย.--พีแอลเอ คอมมิวนิเคชั่น
ยิ่งใหญ่และสร้างความประทับใจ ความเชื่อมั่นในสายตาชาวโลกได้เช่นเดิม สำหรับนิทรรศการแสดงศักยภาพฮาลาลประเทศไทย ตามแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” และครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จัดขึ้นใน “งานแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติที่มาเลเซีย ครั้งที่ 12” (MIHAS 2015) ระหว่างวันที่ 1 - 4 เมษายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเตรียมพร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดอาหารโลก และพร้อมแสดงศักยภาพถึงความเป็นที่หนึ่งในโลกของฮาลาลประเทศไทย “ฮาลาลประเทศไทยที่หนึ่งในโลก” หรือ “Thailand Diamond Halal to the World” ให้เป็นที่ตระหนักรู้และเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริโภคชาวมุสลิมทั้งในมาเลเซียและจากนานาชาติ
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตลาดสินค้าและบริการฮาลาลเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ตามจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกที่มีจำนวนมากถึง 2.1 พันล้านคน โดยมูลค่าตลาดฮาลาลรวมทั้งที่เป็นสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภค และการให้บริการนั้น อยู่ที่ระดับปีละ 2.3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 75.9 ล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในน้อยประเทศในโลกที่มีศักยภาพการผลิตอาหารถึงระดับส่งออกเพื่อเลี้ยงประชากรโลก ด้วยศักยภาพดังกล่าวส่งผลให้ไทยได้เร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมุ่งหวังผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลก ในรูปแบบความร่วมมือที่ชื่อว่า “ฮาลาลประเทศไทยที่หนึ่งในโลก” หรือ “Thailand Diamond Halal to the World” เพื่อแสดงถึงความเป็นที่หนึ่งในโลก จากประสบการณ์การรับรองฮาลาลที่ยาวนานกว่า 40 ปี นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นประเทศต้นกำเนิดในด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลอีกด้วย
โดย “งานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลนานาชาติที่มาเลเซีย ครั้งที่ 12” หรือ Malaysia International Halal Showcase (MIHAS 2015) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 5 เมษายน 2558 ณ กัวลาลัมเปอร์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนิทรรศการแสดงศักยภาพฮาลาลประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย และประชาสัมพันธ์ศักยภาพและคุณภาพมาตรฐานสินค้าฮาลาลไทยให้เป็นที่ตระหนักและเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริโภคชาวมุสลิมในมาเลเซียและจากนานาชาติ ตลอดจนผู้ประกอบการจากทั่วโลกที่เข้าร่วมงาน พร้อมกันนี้ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้าฮาลาลของประเทศไทยต่อสายตาชาวโลก อีกทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์พัฒนาการทางเทคโนโลยี งานวิจัย และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยให้ผู้สนใจที่เข้าร่วมงานได้รับทราบอีกด้วย
โดยงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมออกร้านกว่า 500 ราย จาก 30 ประเทศทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน จาก 70 กว่าประเทศทั่วโลก รวมมูลค่าการซื้อขายภายในงานประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท และในปีนี้ประเทศไทยเข้าร่วมมากขึ้นจากเดิม คือ บริษัทผู้ซื้อ (buyers) เป็น 27 ราย ไม่นับรวมที่ร่วมออกร้านแสดงสินค้าอีกกว่า 50 บริษัท ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ฯลฯ นับว่าเป็นประเทศที่มีผู้เข้าร่วมออกร้านแสดงสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับสองในงาน ซึ่งบูทไทยก็ยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งจากสื่อมาเลเซีย และสื่อจากทั่วโลก อีกทั้งผู้เข้าร่วมชมงาน ซึ่งเราเชื่อว่าจะสามารถร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ “วิทยาศาสตร์ฮาลาล อัตลักษณ์ประเทศไทย” (Halal Science – Thailand Signature) และผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดอาหารโลกได้อย่างไม่ยาก ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย