กรุงเทพฯ--15 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้ฯ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ร่วมกับกระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถกำหนดกิจกรรมจากความต้องการและสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ทางการเกษตร นำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน จำนวน 3,051 ตำบล ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ระดับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ ได้มีการดำเนินการให้คำแนะนำ เรื่องการจัดทำบัญชีโครงการฯ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ การประเมินผลโครงการฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อีกด้วย
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรทุกกิจกรรม เน้นถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ เพื่อให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากได้รับประโยชน์โดยตรงและทั่วถึง ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเกษตรกรได้รับประโยชน์ กว่า 1.8 ล้านครัวเรือน ?พร้อมเปิดเผยความคืบหน้าของโครงการสร้างรายได้ฯ (ผลการดำเนินงาน 10 เมษายน 2558) คณะกรรมการระดับกระทรวงพิจารณาผ่านโครงการแล้วจำนวน 6 ครั้ง 6,596 โครงการ วงเงิน 3,004.193 ล้านบาท คิดเป็น 98.47% มีครัวเรือนเกษตรกรได้รับประโยชน์ 2,605,196 ครัวเรือน มีเกษตรกรผู้ใช้แรงงาน 352,368 ราย แบ่งเป็นลักษณะกิจกรรม 4 ลักษณะที่กำหนด คือ 1.กิจกรรมเพื่อจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 50.44% 2.กิจกรรมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 40.84% 3.กิจกรรมการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 6.96 % 4.กิจกรรมเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร 1.76 % และได้ดำเนินการเสนอของบประมาณสำนักงบประมาณแล้วประมาณ 2,694.234 ล้านบาท คิดเป็น 88.31 %
โดยสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณแล้ว 1,455 โครงการวงเงินงบประมาณ 628.25 ล้านบาท คิดเป็น 20.59 %สำหรับขั้นตอนของการเบิกจ่ายเงินในโครงการสร้างรายได้ฯ นั้น จะเป็นไปอย่างรัดกุม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งขั้นตอนการจ่ายเงินจนถึงชุมชนนั้นจะผ่านระบบบัญชีเงินฝากของธนาคารทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายวัสดุจะต้องมีการทำบัญชีและการเบิกจ่ายค่าวัสดุของชุมชน โดยชุมชนจะได้รับคำแนะนำจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบและเงื่อนไข ส่วนงบประมาณการจ้างงานของแต่ละชุมชนจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน โดยได้รับความร่วมมือจาก ธกส. ในการลดหย่อนค่าธรรมเนียมอีกด้วย นายโอฬาร กล่าว