กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง เทศกาลสงกรานต์กับความสุขของคนกรุง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) จำนวนทั้งสิ้น 1,513 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 -11 เมษายน 2558 ผลการสำรวจพบว่า เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์ที่มีเป็นประจำทุกปีนั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.1 ระบุให้ความสำคัญมาก – มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 32.1 ระบุให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ร้อยละ 13.7 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 6.1 ระบุน้อย – ไม่ให้ความสำคัญเลย
ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้นั้น พบว่า ร้อยละ 88.2 ระบุตั้งใจจะไปสรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร รองลงมาคือร้อยละ 68.9 ระบุทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ร้อยละ 42.0 ระบุจะไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 41.6 ระบุเล่นสาดน้ำ เล่นน้ำสงกรานต์ ร้อยละ 26.2 ระบุเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม นอกจากนี้ตัวอย่างร้อยละ 21.9 ระบุจะไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน คนรู้จัก ร้อยละ 17.1 ระบุจะไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ร้อยละ 15.4 ระบุจะไปไหว้พระ 9 วัด ร้อยละ 11.6 ระบุจะไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว และร้อยละ 16.3 ระบุอื่นๆ อาทิ ขายของ เดินห้างสรรพสินค้าเพื่อหลบร้อย เที่ยวสถานบันเทิง อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไร เป็นต้น
และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความตั้งใจในการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้นั้น ผลการสำรวจพบว่าตัวอย่างประมาณ 1 ใน 3 คือร้อยละ 33.8 ระบุตั้งใจจะเดินทางไปต่างจังหวัด ในขณะที่ร้อยละ 66.2 ระบุไม่เดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้เหตุผลว่า จะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะใกล้เปิดเทอมแล้ว วันหยุดน้อย กลัวอุบัติเหตุ เดินทางไม่สะดวก อากาศร้อนเกินไป ไม่อยากเดินทางในช่วงเทศกาล ต้องทำงาน เป็นต้น สำหรับความมั่นใจของตัวอย่างต่อมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมานั้น พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.8 ระบุมั่นใจว่าจะทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 27.7 ระบุไม่มั่นใจ และร้อยละ 29.5 ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับความตั้งใจในการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 61.4 ระบุตั้งใจจะอยู่ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ในขณะที่ร้อยละ 12.8 ระบุไม่อยู่ทำกิจกรรมกับครอบครัวเนื่องจากไม่ว่าง และร้อยละ 25.8 ระบุยังไม่แน่ใจ ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 66.3 ระบุในครอบครัวของตนเองมีญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุพักอาศัยร่วมอยู่ด้วย ในขณะที่ร้อยละ 33.7 ระบุไม่มี สำหรับความตั้งใจในการทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุในครอบครัวนั้น ตัวอย่างร้อยละ 61.9 ระบุจะมีการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุในครอบครัวของตนเองแน่นอน ในขณะที่ร้อยละ 38.1 ระบุคิดว่าไม่มีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุในครอบครัว
ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างถึงความสุขที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2558 นี้ โดยให้ระบุระดับคะแนนความสุขจาก 0-10 คะแนน เมื่อ 0 หมายถึงไม่มีความสุขเลย และ 10 หมายถึงมีความสุขมากที่สุด ผลการสำรวจเมื่อนำมาวิเคราะห์หาค่าคะแนนความสุขพบว่า คะแนนความสุขต่อตนเองมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.64 จากคะแนนเต็ม 10 ในขณะที่คะแนนความสุขต่อครอบครัวมีสูงกว่าเล็กน้อย โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 8.75 ความสุขต่อชุมชนที่พักอาศัยอยู่ที่ 7.97 ในขณะที่ความสุขต่อประเทศชาติมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.45 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ตามลำดับ
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างร้อยละ 52.9 เป็นเพศหญิง ในขณะที่ร้อยละ 47.1 เป็นเพศชาย ร้อยละ 6.5 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 15.0 ระบุอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 22.5 ระบุอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 23.1 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 32.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเมื่อพิจารณาระดับการศึกษาชั้นสูงสุดที่สำเร็จมาพบว่า ร้อยละ 68.8 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 27.2 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.0 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 8.5 ระบุครอบครัวของตนมีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 7.1 ระบุมีรายได้ 10,001-15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 20.9 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 63.5 ระบุครอบครัวของตนเองมีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน