กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เลิกกฎอัยการศึกใช้ ม.44” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการยกเลิกกฎอัยการศึก และประกาศใช้ ม.44 และสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อแนวคิดการเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 แทน (การให้อำนาจหัวหน้า คสช. สั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ในทางนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ) พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.01 ระบุว่า รัฐบาลควรใช้ กฎอัยการศึก ต่อไปเหมือนเดิม เพราะ ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ให้อยู่ในความสงบ และสามารถบริหารงานประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รองลงมา ร้อยละ 37.41 ระบุว่า รัฐบาลควร เลิกกฎ อัยการศึก แล้วใช้กฎหมายปกติทั่วไปแทน เพราะ อยากเห็นการเมืองของไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาต่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวกล้าที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศ และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ร้อยละ 14.39 ระบุว่า รัฐบาลควรเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้ มาตรา 44 แทน เพราะ การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ขณะที่ คสช. ยังมีอำนาจรองรับ ในการบริหารงานต่าง ๆ เพื่อดูแลความเรียบร้อยและความสงบของบ้านเมือง และร้อยละ 7.19 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึง ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ว่ามีความสงบเรียบร้อยแล้วหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.96 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ยังไม่สงบเรียบร้อย เพราะ ยังมีคลื่นใต้น้ำ หรือความเคลื่อนไหวของบางกลุ่มที่ยังต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอยู่ ขณะที่ ร้อยละ 46.44 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน สงบเรียบร้อยแล้ว เพราะ โดยรวมถือว่าเหตุการณ์เป็นปกติ ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใด ๆ ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมในระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.06 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.19 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.22 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 22.54 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 56.20 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 43.80 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 6.73 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 32.75 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 47.56 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 12.97 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.24 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.88 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.88 คริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.52 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 71.47 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 2.00 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 24.54 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 29.28 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.70 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 29.12 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและตัวอย่างร้อยละ 6.36 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 13.13 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 14.18 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 25.71 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 14.91 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 16.60 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 11.36 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 4.11 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.87 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 18.55 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 36.37 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 13.99 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 4.88 ไม่ระบุรายได้