กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. จับมือชมรมสาหร่ายและแพลงก์ตอนแห่งประเทศไทยจัดประชุมแลกเปลี่ยนวิวัฒนาการงานวิจัยสาหร่าย พร้อมเปิดรับโจทย์วิจัยจากภาคเอกชน โดยปีนี้เน้นการศึกษาและพัฒนาสาหร่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศ
วิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับโลกซึ่งแต่ละประเทศล้วนกำลังหาแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ ประเทศไทยก็เช่นกันร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานของประเทศมาจากพลังงานทดแทนซึ่งนับว่ายังน้อย หลายหน่วยงานจึงหันมาให้ความสนใจในเรื่องพลังงานทดแทนที่ผลิตจากพืชหลายชนิด โดยล่าสุดนี้มี “สาหร่าย” เป็นพระเอกที่หลายภาคส่วนจับตามอง และเป็น second generation ของ Bio mass เพื่อนำมาผลิต Bio diesel ที่คาดว่าจะช่วยลดปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้บ้างในอนาคต
และเพื่อให้ความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นได้นอกจากภาคเอกชนแล้วสถาบันการศึกษาก็ต้องยื่นมือเข้ามาร่วมด้วย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้หลากหลาย อาทิ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยง คุณสมบัติที่หลากหลายของสาหร่ายโดย รศ. บุษยา บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. กล่าวว่า ความก้าวหน้าของประเทศส่วนหนึ่งคือผลลัพธ์ที่มาจากงานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน มจธ.วิจัยทางด้านสาหร่ายมาเป็นเวลานานโดยศึกษาทั้งด้านการเพาะเลี้ยง สรีรวิทยา และชีวโมเลกุล
“กว่า 28 ปีแล้วที่ มจธ. มีห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย ซึ่งศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายมานาน เหตุผลที่เราหันมาให้ความสำคัญกับสาหร่ายเพราะสาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็น primary producer คือผู้ผลิตขั้นต้นของโลก เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมของโลกโดยตรง นอกจากนั้นสาหร่ายยังมีประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่น้อยทั้งในเรื่องของคุณค่าทางอาหารเป็นแหล่งโปรตีนและสารอาหารอันดับต้นๆ สำหรับมนุษย์รวมถึงการนำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่มาแรงของโลกในขณะนี้ ขณะที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างเหมาะสมและมีข้อได้เปรียบในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายชนิดต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่นักวิจัยควรสนับสนุนหากคนไทยจะหันมาสนใจกับพืชเศรษฐกิจอย่างสาหร่ายมากขึ้น และล่าสุดกับการนำสาหร่ายมาเป็นแหล่งพลังงานทดแทน คือ วัตถุดิบใหม่ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล”
ด้วยเหตุนี้จึงมีการรวมตัวกันของบรรดานักวิจัยที่สนใจในด้านสาหร่ายทั่วประเทศเกิดเป็น “ชมรมสาหร่ายและแพลงก์ตอนแห่งประเทศไทย” ก่อตั้งขึ้นมากว่า 15 ปี โดยชมรมฯ นี้ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของหลายสถาบันการศึกษาเมื่อปี 2546 อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มจธ. เป็นต้น และเมื่อวันที่ 25-27 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมาห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย สถาบันพัฒนาและ ฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. ได้ร่วมกับชมรมฯ เป็นเจ้าภาพใน การจัดประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงก์ตอนแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดยมี รศ.บุษยา บุนนาค เป็นประธานชมรมฯ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “สาหร่ายและแพลงก์ตอนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและเศรษฐกิจที่มั่นคง” โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการ แลกเปลี่ยนและอัพเดทงานวิจัยซึ่งกันและกันเพื่อนำไปสู่การต่อยอดในอนาคต
“ในการประชุมแต่ละครั้งจะมีนักวิจัยด้านสาหร่ายและแพลงก์ตอนเข้ามาร่วมมากขึ้น ภาคเอกชนก็เข้ามาร่วมและเก็บเกี่ยวผลงานวิจัยจากชมรมฯ เราไปใช้ประโยชน์ไม่น้อย และครั้งนี้ก็มี ภาคเอกชนที่ตั้งโจทย์วิจัยเรื่องเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขึ้นมาอย่างสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. มาร่วมด้วย ทำให้เราทราบว่าในสาหร่ายมีน้ำมันมากถึง 20-30 % และมีแนวโน้มในการผลิตน้ำมันได้มากกว่าปาล์มเกือบเท่าตัวแต่ก็ยังจัดว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูงอยู่มาก ดังนั้นสิ่งที่พวกเรานักวิจัยต้องทำต่อไปคือการศึกษาหาเทคโนโลยีตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะเลี้ยงสาหร่าย การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงกระบวนการผลิตจนได้น้ำมันออกมาในงบประมาณที่คุ้มค่ากับการลงทุน” รศ.บุษยา กล่าว
นอกจากนี้ มจธ. ยังได้เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมกลุ่ม “ THINK ALGAE ” ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสาหร่ายผลิตน้ำมันกับสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และยังมีอีกหลายหน่วยงาน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อการนำน้ำมันไบโอดีเซลจากสาหร่ายออกสู่อุตสาหกรรมให้สำเร็จในปี 2020 เพื่อบรรเทาปัญหาทรัพยากรพลังงานและสิ่งแวดล้อมในอนาคต