กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--NBTC Rights
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช เปิดเผยว่าในการประชุมปฏิบัติการ เรื่อง “โฆษณาอย่างไรไม่เอาเปรียบผู้บริโภค” วันที่ ๑๐ เม.ย.นั้น พบว่า หลังจากที่ กสทช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหารและยาในช่วง ๒ ปี ที่ผ่านมา สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง โทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิ้ลทีวีมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ระยะหลังทั้ง อย. และ กสทช. ตรวจพบว่าเริ่มมีบางช่องกลับมาออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอีกแล้ว นับจากนี้ไปหากช่องใดที่มีการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเริ่มมาตรการพักใช้ใบอนุญาต นอกจากนี้ กสทช. จะเดินหน้าตกลงทำความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดูแลการโฆษณาสารเคมีทางการเกษตรที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโฆษณาเครื่องรางของขลัง และการโฆษณาสินค้าโดยใช้เทคนิคการตลาดแบบตรง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ที่ กสทช. มีกฎหมายที่จะกำกับดูแลได้
ด้านเภสัชกรสุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. ส่งรายชื่อช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมที่เคยทำข้อตกลงกับ กสทช.มาให้อย.ตรวจสอบเฝ้าระวังจำนวน ๕๓ ช่องรายการ หลังจากที่ถูกปิดไปในช่วงรัฐประหาร เพื่อตรวจสอบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบช่องรายการที่พบการกระทำผิดซ้ำจะส่งให้ กสทช.ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีนับเป็นปัญหาระดับชาติที่นายกรัฐมนตรีถึงกับปรารภในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้งว่าพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกลื่อน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหานี้
นายศักดิ์เกษม สุทรภัทร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับ กสทช. ในการกำกับการโฆษณาสารเคมีทางการเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมากรมฯ พบโฆษณาทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี วิทยุ และสื่ออื่นๆ ที่เป็นการหลอกลวงเกษตรกร มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง แต่ไม่สามารถดำเนินใดๆ ได้มากนักเนื่องจากกฎหมายปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตรบังคับใช้นั้นไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมการโฆษณาก่อนเหมือนอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ที่มีกฎหมายระบุอย่างขัดเจน มีเพียงมาตราเดียวที่พูดถึงการโฆษณาแต่ที่ผ่านมากรมฯ ไม่สามารถใช้บังคับได้เนื่องจากไม่สามารถไปกำกับช่องรายการที่โฆษณาสารเคมีดังกล่าวได้ ดังนั้นหากมีการจับมือกับ กสทช. ทำให้พอมองเห็นแนวทางว่าจะดำเนินการจัดการปัญหาโฆษณาสารเคมีที่อวดอ้างและหลอกลวงเกษตรกรได้ เหมือนที่ กสทช.จับมือกับ อย.อย่างแข็งขันในการจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยา
นายดนัย หงสุรพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พูดถึงการแก้ไขปัญหาการโฆษณาเครื่องรางของขลัง การโฆษณาสินค้าโดยใช้เทคนิคการตลาดแบบตรง ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่ามีการกระทำที่หลอกลวงผู้บริโภคจริง แต่หาก กสทช. สามารถขอให้ช่องรายการต่างๆ ที่โฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคระงับโฆษณาก่อน แม้กระบวนการตัดสินคดียังไม่สิ้นสุดแต่ทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองจากโฆษณาที่หลอกลวงได้มากทีเดียว