กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--
ในแวดวงคนทำงานส่งเสริมการเข้าถึงยารักษาโรค ทั้งในประเทศและสากล เรารู้กันดีว่า ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บรรษัทยายักษ์ใหญ่ข้ามชาติพยายามใช้ประเด็นความห่วงใยเรื่องยาปลอมสร้างความสับสนแก่สาธารณะ เพื่อโจมตียาชื่อสามัญที่เป็นคู่แข่งทางการตลาด
กลยุทธ์ที่ใช้มีทั้งแบบบนดินและใต้ดิน และแบบเปิดเผยและลับหลัง เช่น การใช้เวทีองค์การอนามัยโลก การเจรจาการค้าแบบทวีภาคีและพหุภาคี เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขนิยาม “ยาปลอม” การวิ่งเต้นกับนักการเมืองและข้าราชการเพื่อผลักดันให้แก้กฎหมายในประเทศต่างๆ หรือแม้กระทั่งการให้ทุนศิลปินในประเทศกำลังพัฒนา จัดนิทรรศการศิลปะ โดยอ้างว่าเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้วแฝงวาระซ่อนเร้นทำให้เรื่อง “ยาปลอม” เป็นกระแสสังคม
ทั้งหมดนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงนิยาม “ยาปลอม” ของโลกและของประเทศ โดยสร้างความสับสนให้กับสังคมว่า ยาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยเป็นเรื่องเดียวกันกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองเรื่องเป็นเป็นคนละเรื่องกัน และต้องการวิธีแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างวาระของบรรษัทยาข้ามชาติได้ อย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับดิฉัน
ราวปลายเดือน ก.พ. ดิฉันได้รับการติดต่อจาก ผู้ช่วยผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Aljazeera ที่ชื่อว่า “หญิง” ขอสัมภาษณ์เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งประกอบรายการโทรทัศน์ 101 East ในประเด็นยาปลอม ครั้งแรกดิฉันได้ปฏิเสธไป เช่นเดียวกับนักวิชาการด้านยาจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับนักข่าวที่เราไม่แน่ใจในจุดยืนความเที่ยงตรงในการนำเสนอข่าว และความเป็นมืออาชีพในฐานะนักสื่อสารมวลชนที่จะนำเสนอข่าวที่มีข้อมูลรอบด้าน
แต่เมื่อผู้ประสานงานของสำนักข่าวชี้แจงและทำให้ทราบว่า ผู้ที่จะทำสารคดีข่าว 101 East ตอนนี้ คืออดีตผู้สื่อข่าวมือดีจากสถานีโทรทัศน์ ABC ประเทศออสเตรเลีย Trevor Bormann ซึ่งได้ติดตามประเด็นอันตรายจากยาปลอมยี่ห้อ โดยเฉพาะยาที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทยาที่ชื่อว่า “ไฟเซอร์” แต่ยังไม่พบกรณีที่คนทั่วไปหรือผู้ป่วยที่บริโภคและได้รับความเสียหายจากจากยาปลอมยี่ห้อตามที่กล่าวอ้าง นักข่าวผู้นี้จึงต้องการข้อมูลอีกด้านเพื่อถ่วงดุลย์ข้อมูลกล่าวอ้างของบริษัทยา ดิฉันจึงคิดว่า การให้สัมภาษณ์กับรายการสารคดีข่าวนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ข้อมูลประกอบที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นแก่สาธารณะ
การให้สัมภาษณ์จึงมีขึ้นในวันที่ 2 มี.ค.2558 ดิฉันได้เล่าสถานการณ์และข้อมูลหลักฐานประกอบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในสากลเกี่ยวยุทธวิธีที่บรรษัทยาข้ามชาติใช้เพื่อสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทยาข้ามชาติพยายามใช้หลากหลายกลยุทธ์เพื่อขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กว้างขวางและเกินเลยจากที่กฎหมายกำหนด และขอยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้
- พยายามขยายนิยามยาปลอม (fake drug, substandard drug, spurious drug) ตามนิยาม พ.ร.บ.ยา ซึ่งเป็นยาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัย ให้ครอบคลุมถึงยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (counterfeit drug) เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
- พยายามล๊อบบี้หน่วยงานต่างๆ โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 กรมทรัพย์สินทางปัญญา, สมาคมบริษัทยาข้ามชาติ ได้สร้างความสับสนให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องยาปลอม ที่ขยายนิยามยาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมกับยาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยว่าเป็นยาปลอม จนในที่สุด อ.ย. ได้ปฏิเสธที่จะลงนาม MOU ดังกล่าว
- สอดแทรกเนื้อหาเหล่านี้ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่างๆ ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทยาข้ามชาติมีอิทธิพลอย่างสูงต่อนักการเมืองในประเทศเหล่านั้น
- จัดนิทรรศการศิลปะที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ โดยมีนิยามยาปลอมที่คลุมเครือ จนในที่สุด ทางผู้จัดนิทรรศการฯถูกกดดันให้เขียนคำชี้แจงว่า ยาปลอมไม่ได้มีความหมายรวมถึงยาชื่อสามัญ
เหล่านี้คือ ตัวอย่างยุทธวิธีเดียวกับที่บรรษัทยาข้ามชาติ พยายามวิ่งเต้นให้องค์การอนามัยโลก (WHO) บัญญัตินิยามยาปลอมให้ครอบคลุมถึงยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย โดยหวังให้ อย.ของประเทศต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคและดูความปลอดภัย-คุณภาพของยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไปทำหน้าที่ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นทรัพย์สินเอกชนด้วยภาษีของประชาชน ซึ่งความพยายามนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมมาโดยตลอดมา
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความพยายามอีกด้านในระดับสากล ในเรื่อง “ร่างข้อตกลงต่อต้านสินค้าปลอมแปลง (Anti-Counterfeit Trade Agreement, ACTA)” ให้มีนิยาม ‘ยาปลอม’ ในลักษณะข้างต้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในที่สุด เมื่อปี 2554 สภายุโรปมีมติไม่เห็นชอบกับข้อตกลง ACTA ด้วยเหตุผลว่า จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการเข้าถึงความรู้ของประชาชน
ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ของไทย ในมาตรา 73 กำหนดความหมายของ “ยาปลอม” คือ
1. ยาหรือวัตถุที่ทำเทียมหรือมีบางส่วนว่าเป็นยาแท้
2. ยาที่แสดงชื่อว่าเป็นยาอื่น หรือแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุไม่เป็นความจริง
3. ยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งไม่เป็นความจริง
4. ยาที่แสดงว่าเป็นยาตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่จริง
5. ยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน โดยมีสาระสำคัญขาดหรือเกินกว่า 20% ของตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้
ดังนั้นแล้ว ยาผิดมาตรฐานและยาเสื่อมคุณภาพนี้จะเน้นเรื่องคุณภาพของยา ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาปลอมแปลงยี่ห้อ หรือที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ (counterfeit drug) ตามที่ทางอุตสาหกรรมยาข้ามชาติต้องการขยายคำนิยามแต่อย่างใด
คำถามสำคัญ คือ ใครจะได้ประโยชน์จากการสร้างความสับสนให้กับสังคมว่า ยาปลอมจากความหมายด้านคุณภาพและความปลอดภัย กับยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน
คำตอบ คนที่จะได้ประโยชน์คือบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งต้องการขัดขวางยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพและถูกกฎหมาย ให้ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาด โดยที่พยายามสร้างความเข้าใจที่สับสนและความหวาดกลัวให้กับสังคม เพื่อให้เป็นกระแสกดให้ผู้กำหนดนโยบายแก้ไขกฎหมาย และให้หน่วยงานของรัฐต้องลงมาทำหน้าที่ ที่นอกจากการดูแลเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยได้กระทำมาอยู่แล้ว ต้องมากำกับดูแลและจับกุมดำเนินคดีกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทยา
แท้จริงแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องของธุรกิจและเอกชน การใช้ทรัพยากรสาธารณะและบุคคลากรของรัฐ (public resources) ที่มีอยู่อย่างจำกัด ปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจของเอกชน (private and individual economic rights)จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยที่บริษัทยาข้าชาติอาศัยความหวาดกลัวจนเกินจริงต่อยาชื่อสามัญที่อุปโลกน์ขึ้น จนนำไปสู่การจับ ยึด ทำลายยาดังกล่าวหรือพยายาแก้กฎหมายต่างๆ ทั้งๆ ที่ถ้าหากมียายาชื่อสามัญผลิตและเข้าสู่ตลาดมากขึ้นเท่าไร จะยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันและทำให้ราคายาลดลงมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ประเทศมีความมั่นคงในเรื่องระบบสุขภาพมากขึ้น และช่วยชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น การส่งเสริมให้มีความมั่นคงด้านยารักษาโรคของประเทศ มีความชอบธรรมและสำคัญมากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทยาข้ามชาติ
ประสบการณ์จริงที่เกิดกับยาชื่อสามัญของผู้ผลิตจากประเทศอินเดียที่จัดส่งยาไปยังประเทศแถบแอฟริกาใต้และทวีปอเมริกาใต้ โดยมีเส้นทางผ่านทางทวีปยุโรป ถูกจับ ยึด อายัด ไว้ ณ ด่านประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 18 ครั้ง ด้วยข้อสันนิษฐานเพียงว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตร จนเกิดปัญหาสาธารณสุขกับประเทศปลายทางเป้าหมายที่ต้องการได้รับยา โดยเฉพาะยารักษาโรคติดเชื้อ เอชไอวี/เอดส์ โรคมะเร็ง และเกิดปัญหาสร้างความเสียหายทางธุรกิจกับผู้ผลิตของอินเดียจำนวนมาก
ดังนั้น การให้สัมภาษณ์แก่ Trevor Bormann ดิฉันจึงเน้นย้ำที่แนวทางการแก้ปัญหาว่า เรื่องยาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศ ที่ไม่มีหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยที่เข้มแข็ง ในประเทศไทย เรามีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีศักยภาพทำงานตรวจสอบยาต่างๆ ในประเทศอยู่ แต่ปัญหายาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยในไทยส่วนใหญ่เป็นยาลักลอบขายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. และยาที่ขายผ่านอินเตอร์เน็ต โดยการแก้ไขปัญหาในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยและเกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชน เป็นหน้าที่โดยตรงที่ อ.ย. จะต้องเพิ่มศักยภาพในการควบคุมดูแลให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่การไปขยายนิยามให้ครอบคลุมยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ไม่ใช่ประชาชน และไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือปกป้องกำไรของบริษัทยา
สำหรับการแก้ปัญหายาปลอม-ยาด้อยคุณภาพในประเทศกำลังพัฒนานั้น ต้องทำให้ยามีราคาที่ถูกลงเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้น ผู้ป่วยจะได้ไม่ไปดิ้นรนหายานอกระบบ ซึ่งการเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญมีความจำเป็นขณะเดียวกันก็ต้องเสริมสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพของหน่วยงานยาในประเทศต่างๆให้สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบยาและคุ้มครองประชาชนได้มากขึ้น เพราะทั้งยาแบรนด์เนมและยาชื่อสามัญต่างมีโอกาสด้อยคุณภาพได้พอๆกัน ไม่ใช่ไปเพิ่มโทษทางกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ขณะเดียวกันดิฉันยังเสนอให้บรรษัทยาข้ามชาติให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนายาใหม่จริงๆ มิใช่เป็นเพียงการวิจัยทางการตลาด การวิจัยเพื่อหาทางจดสิทธิบัตรต่อยอดเพิ่มเติมในยาเก่า หรือใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม
น่าเสียใจอย่างยิ่งที่รายการ 101 East ตอน Fake Pills: A Fatal Fraud ที่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาhttp://www.aljazeera.com/programmes/101east/2015/04/fake-pills-fatal-fraud-150407121857059.html กลับไม่ได้นำเสนอประเด็นปัญหาและทางออกดังกล่าวเลย แต่กลับเสนอสารคดีข่าวในมุมความเห็นที่เข้าทางกับการสร้างวาระของบรรษัทยาข้ามชาติ
นี่คงเป็นความผิดพลาดของดิฉันที่เชื่อไปว่า ยังมีสื่อมวลชนที่ดีที่จะนำเสนอข้อมูลที่มีหลักฐานอย่างรอบด้านให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ไม่ใช่เพียงการรับวาระของบรรษัทยาข้ามชาติเท่านั้น
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
นักวิจัยแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ
15 เม.ย.58