กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมรุกพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดนใต้ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูลและสงขลา ดัน3อุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างโอกาสผู้ประกอบการ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผ่านการดำเนินโครงการคุณภาพที่หลากหลายเพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสในการขยายธุรกิจและลงทุน เชื่อมโยงการค้าร่วมกับสมาชิกในอาเซียนผ่านแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพอาทิ โครงการกลยุทธ์การค้าชายแดนโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่(NEC) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง โครงการ Hand in Hand เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และการลงทุนในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน ตั้งเป้าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ25 ปัจจุบันพื้นที่ชายแดนใต้5 จังหวัด มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดของประเทศประมาณ 5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 51.9 ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม (ที่มาข้อมูล : กองความร่วมมือการค้าและการลงทุนกรมการค้าต่างประเทศ, พฤศจิกายน 2557)
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชายแดนใต้เป็นพื้นที่ ที่มีระบบการผลิตครบวงจรตั้งแต่เกษตรขั้นต้น วัตถุดิบขั้นกลาง และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าโดยอุตสาหกรรมการผลิตที่โดดเด่นและเป็นเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราสูงสุดอันดับต้นๆของประเทศ อาทิ ยางรถยนต์ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถจักรยาน ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย เป็นต้น มีมูลค่าการส่งออกรวมแล้วประมาณ 1.05 แสนล้านบาท (ที่มาข้อมูล :กองความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ, พฤศจิกายน 2557)นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็น อาหาร แปรรูป อาหารทะเลและอาหารฮาลาล โดยจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานีมีศักยภาพอย่างมากในการผลิต และแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและที่น่าจับตามองอีกหนึ่งอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมที่มีการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคชาวมุสลิมในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งในอนาคตเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอดไปยังมุสลิมประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมองหาโอกาสทางธุรกิจจากอุตสาหกรรมดาวเด่นดังที่กล่าวมาได้
นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการที่หลากหลายเพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสในการขยายธุรกิจและการลงทุน เชื่อมโยงการค้าร่วมกับสมาชิกในอาเซียน ผ่านแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณกว่า 28 ล้านบาทผ่านโครงการคุณภาพหลายโครงการซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน อาทิ โครงการกลยุทธ์การค้าชายแดน โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่(NEC)โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง โครงการ Hand in Hand ฯลฯโดยคาดว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้สูงขึ้น และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25
ทั้งนี้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของชายแดนใต้เติบโตอย่างต่อเนื่องมีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดในประเทศมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 51.9 ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม โดยเฉพาะด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ ที่มูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ ประมาณ 3.225 แสนล้านบาท และ 1.39แสนล้านบาท (ที่มาข้อมูล : กองความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ,พฤศจิกายน 2557) ทั้งนี้ แม้จะได้รับผลกระทบบ้างในการดำเนินชีวิตของประชาชนจากปัญหาจากความไม่สงบ แต่พื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญยังเติบโตได้ดีและไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ ในจังหวัดยะลาและนราธิวาสยังมีด่านชายแดนที่สำคัญอีก ซึ่งมีมูลค่าการค้าชายแดนสูง เช่น ด่านสุไหงโกลก ด่านตากใบ ด่านเบตง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการขยายการส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้ 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพาอาทิ การผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าว การลดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง500,000 บาท ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มการลงทุนคลัสเตอร์ เป็นต้น (ที่มาข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) จะยิ่งเกื้อกูลให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งรายเดิมและรายใหม่ ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น นายอาทิตย์ กล่าวสรุป
ด้าน นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช รองประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การค้าชายแดนใต้มีมูลค่าสูงกว่าพื้นที่ชายแดนอื่น ๆ เพราะมีการติดต่อค้าขายกับประเทศที่เศรษฐกิจดีกว่าอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ จึงทำให้มูลค่าการค้าสูงตามสภาพเศรษฐกิจสำหรับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้นั้นในมุมมองในฐานะเป็นผู้ประกอบการมองว่ามีผลกระทบบ้างใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อฯ ทำให้ส่งผลต่อความไม่มั่นใจของนักลงทุนบ้าง แต่ไม่กระทบต่อการลงทุนส่วนรวม ส่วนสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมโดดเด่นมองว่าอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารายังคงเติบโตได้ดีเพราะเป็นพืชเศรษฐกิจของพื้นที่นำไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะถุงมือยางนอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนิช มาร์เก็ต สำหรับเจาะตลาดชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องแต่งกายมุสลิมและอาหารฮาลาล มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวมุสลิมในอาเซียนมีเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งภูมิภาค ซึ่งไทยเราต้องพึ่งพามาเลเซียเหมือนเป็นตัวเชื่อมไปสู่ประเทศมุสลิมอื่น ๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลางให้มากขึ้น นอกจากนี้ รูปแบบการดำเนินธุรกิจชายแดนใต้จะแตกต่างกับชายแดนภูมิภาคอื่นตรงที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเสริมให้นักลุงทุนชาวไทยไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านเพราะค่าแรงถูก แต่ชายแดนใต้ซึ่งติดกับมาเลเซียที่ค่าแรงแพง จึงไม่จำเป็นต้องไปตั้งโรงงานที่มาเลเซีย แต่สนับสนุนให้ผลิตและแปรรูปในประเทศไทยและส่งไปขายในมาเลเซียหรือสิงคโปร์มากกว่า
สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาการค้าชายแดนใต้ได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์074 – 211 - 906 –8 และสามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ที่www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr