กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์ ประเทศไทย
จากการสำรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยมีความ “อยากขาว” มากกว่าผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่คนไทยทั้งหญิงและชาย นอกจากนี้ เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีได้เริ่มต้นขึ้นในปลายปี 2558 อาจเกิดปรากฏการณ์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองและมีความปลอดภัยในการใช้เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อของการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นมาเป็นครั้งที่ 23 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในกรมฯ และผลักดันห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น และมีการทำงานแลกเปลี่ยนความรู้กับห้องปฏิบัติการในประเทศต่างๆ เพื่อทัดเทียมมาตรฐานสากลระดับโลก ในการประชุมครั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เชิญองค์กรภาคเอกชนอย่าง บริษัทลอรีอัล จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมและดูแลความปลอดภัยของเครื่องสำอาง โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวแอนนา ออส ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้านความปลอดภัยและกฎหมายเครื่องสำอาง บริษัท ลอรีอัล จำกัด มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อ “กฎระเบียบข้อบังคับสากลและการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง” เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยเทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีจะเริ่มต้นในปลายปีนี้
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถานการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของประเทศไทยในปัจจุบันว่า“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การอาหารและยา หรือ อย. มีบทบาทหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินความเสี่ยงและเตือนภัยทางสุขภาพให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากสถิติกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางพบว่ามีกรณีเสี่ยงและมีการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะการเข้ามาของโซเซียลมีเดียทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและโฆษณาเกินจริงได้ง่ายกว่าเดิมมาก แต่ขณะเดียวกันเราก็สามารถใช้โซเซียลมีเดียเป็นช่องทางในการหาข้อมูลที่จะช่วยป้องกันตนเองจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาทางกรมฯ ได้ตรวจพบเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายเจือปน เช่น ไฮโดรควิโนน หรือ สารปรอท วางจำหน่ายในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้บริโภค ส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะไต หากสารเหล่านี้สะสมในร่างกายเป็นจำนวนมากหรือในระยะยาว อาจทำให้ไตพิการได้ บางรายใช้ อย. ปลอม ลอกหมายเลข อย. จากผลิตภัณฑ์อื่นมาใส่ เมื่อเราตรวจพบก็ย้ายไปขายในจังหวัดอื่น อีกทั้งเรายังมีความกังวลว่า เมื่อมีการเปิดการค้าเสรีอย่างเออีซีจะมีการทะลักเข้ามาของผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างมีศักยภาพ”
หัวใจสำคัญของการดูแลผู้บริโภค คือ การสร้างความตระหนักในการดูแลตนเองเบื้องต้นให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น ผ่านการให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในการนำชุดทดสอบสารพิษในผลิตภัณฑ์ไปใช้ ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงปัญหาระดับชุมชนได้ โดยปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีอสม.ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน นอกจากนั้น ยังมีการจัดทำแอพลิเคชั่น “ทำดี Drug Alert” ให้ดาวน์โหลดได้สำหรับสมาร์ทโฟน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงอันตรายของสารพิษในเครื่องสำอาง รวมทั้งมีภาพเครื่องสำอางที่ถูกตรวจพบ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการที่ผิดกฎหมาย
“นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ในกรมฯ ของเรา ต้องหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา เพราะนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น นาโนเทคโนโลยี เราจำเป็นต้องศึกษาความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องสำอางและติดตามมาตรฐานระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่างอียู การร่วมมือกับภาคเอกชน อย่าง บริษัทลอรีอัล ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องสำอางระดับโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยเป็นอย่างมากและได้ทุ่มงบในการวิจัยค้นคว้าในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ได้มาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้บุคลากรของกรมฯ มีข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์มาใช้ในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก” นายแพทย์อภิชัยกล่าว
ด้านความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญการประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์ระดับโลก
นางสาวแอนนา ออส ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้านความปลอดภัยและกฎหมายเครื่องสำอาง บริษัท ลอรีอัล จำกัด กล่าวว่า “ความรับผิดชอบของบริษัทผู้ผลิตถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อสินค้าของเราไปอยู่ในมือผู้บริโภคจะต้องมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับความปลอดภัยในการใช้สินค้าของเราควบคู่กับประสิทธิภาพแท้จริงตามที่ระบุไว้ โดยเฉพาะในเรื่องส่วนผสมที่ใช้ในเครื่องสำอาง เราเชื่อว่าส่วนผสมที่ปลอดภัยจะนำไปสู่ความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะเหตุนี้ ลอรีอัลจึงมีมาตรฐานการผลิตและประเมินความปลอดภัยเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายใน 134 ประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่เป็นไปตามระเบียบของสหภาพยุโรป โดยมี
นักพิษวิทยาเป็นผู้ตรวจประเมินความปลอดภัยเครื่องสำอาง ทั้งนี้เครื่องสำอางทุกรายการของลอรีอัลได้ผ่านการตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัย สิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายและสารพิษที่เจือปนอยู่ในเครื่องสำอาง ซึ่งเราทดสอบความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนถึงมีการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ที่พร้อมวางจำหน่ายแล้ว ซึ่งมีขั้นตอนที่มากกว่ากฎข้อบังคับกำหนดไว้เสียอีก นอกจากนั้น การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างเครือข่ายความรู้ด้านการประเมินความปลอดภัยเครื่องสำอางอย่างมีประสิทธิผล เพื่อเป็นการช่วยผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งส่งผลเสียให้แก่สุขภาพในระยะยาว” นางสาวแอนนากล่าวสรุป
นอกจากนี้ ลอรีอัลยังได้จัดทำข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นสารที่เป็นอันตรายในเครื่องสำอาง การใช้สีในยาย้อมผม การใช้วัตถุกันเสียในเครื่องสำอาง เป็นต้น ที่เว็บไซต์ http://www.loreal.com/loreal-answers/product-ingredient-safety/your-questions.aspx (ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ)
การใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากสิ่งปนเปื้อนนั้นมีความสำคัญต่ออย่างยิ่งและความรับผิดชอบของบริษัทผู้ผลิตก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไม่กว่ากัน ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยสามารถอ้างอิงข้อมูลผู้บริโภคจากองค์กรอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานสูงและรับรองความปลอดภัยเป็นอย่างดี เพื่อเราจะได้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ ที่มาพร้อมกับสารพิษในเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านั้นอีกด้วย