กรมการค้าภายในแถลงการณ์เรื่อง ผลกระทบต่อราคาสินค้าจากการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Wednesday August 6, 1997 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--6 ส.ค.--กรมการค้าภายใน
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 ของราคาขายนั้น
กรมการค้าภายใน ขอชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้บริโภคดังนี้
1) สินค้า 26 รายการ ดังรายชื่อที่แนบท้าย เป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีดังกล่าว ดังนั้น ราคาสินค้าจึงไม่ควรปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยอ้างสาเหตุจากภาระภาษี
2) ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่จ่ายให้แก่รัฐ โดยผู้ค้าและผู้ผลิตจะร่วมกันจัดเก็บและนำส่งให้รัฐเต็มจำนวน ดังนั้น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมิได้ทำให้ต้นทุนการผลิต หรือต้นทุนการขายของผู้ผลิตหรือผู้ค้าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
3) ราคาสินค้าในทุกขั้นตอนการจำหน่าย (ยกเว้น 26 รายการข้างต้น) จะเพิ่มสูงขึ้นเท่ากับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น และภาระภาษีที่ประชาชนผู้บริโภคต้องแบกรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด จะถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ โดยครบถ้วนต่อไป
ดังนั้น จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังผู้ผลิตและผู้ค้าทุกขั้นตอนการตลาด โปรดอย่าฉวยโอกาสจาการที่รัฐปรับเปลี่ยนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภค โดยการเพิ่มราคาสินค้าของท่านสูงขึ้นเกินกว่าภาระภาษีที่จะต้องนำส่งรัฐเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในราคาเป็นธรรม และขอหลักฐานใบกำกับภาษีจากผู้ขาย รวมทั้งช่วยสอดส่อง หากพบผู้ผลิตหรือผู้ค้าที่ปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น โปรดแจ้งไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ HOT LINE 1569 โทร. 2226982, 2225139, 2231870 โทรสาร 2225138 ต่างจังหวัดแจ้งที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัดทุกจังหวัด
อนึ่ง เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค กรมการค้าภายในจึงได้เริ่มเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด ตามโครงการธงฟ้าราคาประหยัด โดยมีจุดสังเกตจากร้านค้าหรือจุดจำหน่ายที่มีธงฟ้าเป็นธงราวแขวนอยู่
กรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) การขายสินค้าหรือการให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 600,000 บาทต่อปี
(2) การขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร
(3) การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
(4) การขายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ได้แก่ ปุ๋ย ปลาป่น อาหารสัตว์ ยา หรือ เคมีภัณฑ์ทุกชนิด ที่ใช้สำหรับป้องกัน รักษาโรค ทำลาย บำรุง หรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์
(5) การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน
(6) การนำเข้าสินค้าตาม (2) (3) (4) และ (5)
(7) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
(8) การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ เฉพาะทางบก
(9) การให้บริการการศึกษาของโรงเรียน และสถานศึกษาต่าง ๆ ของทางราชการและเอกชน
(10) การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน
(11) การให้บริการที่เป็นงานศิลปะและวัฒนธรรม
(12) การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
(13) การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
(14) การให้บริการการประกอบโรคศิลป การสอบบัญชี การว่าความและการให้บริการวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพอิสระนั้น
(15) การให้บริการวิจัย หรือบริการทางวิชาการ
(16) การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ
(17) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
(18) การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
(19) การขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือสาธารณกุศลในประเทศไทย
(20) การให้บริการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
(21) การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
(22) การขนส่งระหว่างประเทศ โดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศนั้นยกเว้นภาษีทางอ้อมให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ
(23) การรับจ้างสีข้าว
(24) การขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
(25) การขายยาสูบของผู้ประกอบการที่มิใช่โรงงานยาสูบ
(26) การนำเข้าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าบางประเภท เช่น ของส่วนตัวที่เจ้าของนำมาใช้เอง
สำหรับการยกเว้นตามรายการ (1), (2), (3), (4) และ (5) นั้น ผู้ประกอบการจะขอเลือกเข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ