กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ปภ.
มท.1 สั่งการ ปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยเชื่อมโยง
การดำเนินงานอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ จัดลำดับความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์
พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับกิจกรรมการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ เน้นการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งน้อยที่สุด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)
33 จังหวัด 195 อำเภอ 1,087 ตำบล 9,791 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสำรวจปริมาณน้ำ จัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง กำหนดแผน
ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่ครอบคลุมทุกมิติ จัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน การปฏิบัติการฝนหลวง การขุดเจาะบ่อบาดาล รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ โดยจัดสรรกิจกรรม
การใช้น้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง แบ่งการดำเนินงานเป็น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่
1) การแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรจัดรถบรรทุกน้ำ จำนวน 249 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 23 คัน ออกให้บริการแจกจ่ายน้ำ จำนวน 7,818 เที่ยว รวมปริมาณน้ำ 41,150,200 ลิตร 2) การสนับสนุนน้ำดิบแก่พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จัดเครื่องสูบน้ำ 57 เครื่อง รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล จำนวน 23 คัน สูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบไปยังถังเก็บน้ำกลางประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง 3) การจัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตร คาดว่าพื้นที่สวนจะได้รับผลกระทบ 5,725,896 ไร่ เสียหายจำนวน 639,300 ไร่ ซึ่งจะได้เร่งจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ป้องกันมิให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ 4) การสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการซ่อม/สร้างทำนบและฝายเก็บน้ำ จำนวน 472 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 10 แห่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง 5) การดำเนินโครงการฟื้นฟูบูรณะแหล่งน้ำเดิม แก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง โดยดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำและปรับปรุงสภาพลำน้ำที่ตื้นเขินในพื้นที่ประสบภัยแล้งและอุทกภัยซ้ำซากทุกจังหวัด รวมจำนวน 776 โครงการ เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 627,209 คน ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งน้อยที่สุด