กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
ศิษย์เก่า EMBA ศศินทร์ในฐานะผู้บริหารแบรนด์ไนกี้เผยตลาดเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาในภูมิภาคอาเชียนแข่งขันสูง เน้นสร้างสรรค์สินค้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนผู้บริโภคให้ออกกำลังกาย และให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหาร Supply Chain รวมทั้งการสร้างความพึงพอใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
นางสาวสุชัญญา ลีนะบรรจง ศิษย์เก่า EMBA สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( Sasin) ในฐานะ South East Asia Supply Chain Strategy & Innovation ประจำภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทไนกี้ จำกัด (ประเทศสิงค์โปร์) เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬามีการแข่งขันสูง บริษัทฯ จึงเน้นการขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยการสร้างความพึงพอใจในตัวสินค้าและแบรนด์ และยังต้องการสร้างสรรค์และออกแบบสินค้า เพื่อสนับสนุนให้คนหันมาเล่นกีฬาและมีความสุขกับการการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จึงต้องพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของลูกค้า เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องไม่มีกลิ่นอับ โปร่ง เบา สบาย เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทุกโอกาส รวมทั้งสร้างสีสันสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาออกกำลังกายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ามีนวัตกรรมใหม่ ออกสู่ตลาดเมื่อไม่นานมานี้ ไนกี้ร่วมกับแอปเปิลได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อการออกกำลังกาย สำหรับให้ผู้สนใจสามารถโหลดมาใช้กับการออกกำลังกาย เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่สามารถวัดผลในการออกกำลังกายได้ในขณะกำลังวิ่ง
นางสาวสุชัญญา กล่าวว่าท่ามกลางการแข่งขันของตลาดจะต้องมีทางเลือกให้ผู้บริโภคและสินค้าต้องมีความหลากหลาย ดังนั้นกลไกและกระบวนการต่างๆ ต้องให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง การบริหาร Supply Chain จึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรและส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของธุรกิจ พร้อมทั้งการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย รวมไปถึงการกระจายสินค้าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำจึงต้องเน้นเรื่องความรวดเร็ว ความถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากต้องรับผิดชอบในการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายการกระจายสินค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จึงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้กับ Supply Chain Strategy & Innovation และให้สอดคล้องกับการแข่งขันในปัจจุบัน โดยเน้นเรื่องการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคเร็วขึ้น สินค้าเสียหายน้อยที่สุด และสินค้าไม่ล้นตลาดหรือขาดตลาดจนเกินไป รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ทำให้สินค้ามีมูลค่าและคุณภาพที่ดี “เราต้อง พร้อม ก่อน การโตของธุรกิจ”
“นอกจากเรื่องนวัตกรรมในการบริหาร Supply Chain แล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับผู้บริโภคและสังคม เช่น ช่วงวิกฤตน้ำท่วมประเทศไทยที่ผ่านมา คลังสินค้าของบริษัท ได้รับความเสียหายประมาณ 40% บริษัทฯ ตัดสินใจทำลายสินค้าในคลังสินค้าทั้งหมด ผ่านกระบวนการ Co-Processing โดยร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ ตรานกอินทรีย์ นำสินค้าเหล่านี้มาใช้เป็นพลังงานทดแทนกับเตาเผาของบริษัทปูนซิเมนต์ และยังนำเถ้าของวัสดุที่เผาไปเป็นส่วนผสมวัตถุดิบของการผลิตปูนซิเมนต์ได้อีกด้วย”
นางสาวสุชัญญากล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติม ถึงการศึกษาต่อที่ศศินทร์ว่า สามารถนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ มาจัดระเบียบให้สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการจัดระเบียบทางความคิด การวิเคราะห์ รวมทั้งการบริหารกลยุทธ์ นอกจากความรู้ที่ได้รับแล้วยังมีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนร่วมรุ่นที่มาจากหลากหลายธุรกิจ บรรยากาศการเรียนสนุกและอาจารย์ผู้สอนมีความเป็นกันเอง การมีโอกาสได้รับประสบการณ์จริงจากผู้สอนถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสมมากในการเลือกมาศึกษาต่อที่ศศินทร์