กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--จุฬาฯ
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก่อให้เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ ข่าวสารข้อมูลสามารถเผยแพร่ถึงกันได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า "อินเตอร์เน็ต" การเผยแพร่ข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตมีหลายรูปแบบ หลายมหาวิทยาลัยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งเผยแพร่สื่อให้นิสิต นักศึกษาได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์ทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง
ตลอดเวลาที่ผ่านมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองแก่นิสิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาต่อนิสิตทั้งก่อนเข้าเรียนในชั้น ทบทวนหลังจากเรียนแล้ว หรือศึกษาเพิ่มเติมในหัวข้อซึ่งอาจารย์ไม่สามารถสอนได้หมดในเวลาจำกัด เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิชาการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น จุฬาฯ จึงสนับสนุนให้มีการสร้างบทเรียนหรือสื่อสารการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนตไปสู่ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศด้วยภาษาสากล ขณะนี้จุฬาฯ ได้ทำการเผยแพร่สื่อการสอนชนิดมัลติมีเดียบนอินเตอร์เน็ตโดยใช้ภาษาอังกฤษเผยแพร่ทั่วโลกเป็นครั้งแรกของวงการอุดมศึกษาของไทยภายใต้ Website http :// www.chula.com ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลย่อย 3 ส่วน ส่วนของสื่อจะอยู่ในส่วนที่ใช้ชื่อว่า Cyberlab สื่อมัลติมีเดียชุดแรกที่เผยแพร่บน Website นี้คือ บทเรียนด้านกุมารศัลยศาสตร์ (การผ่าตัดเล็ก) และโรคในช่องปาก ประกอบด้วยรูปแบบของบทเรียน 8 ลักษณะการเรียนรู้ เช่น สมุดภาพ ความรู้ด้านกุมารศัลยศาสตร์ มีภาพทั้งสิ้นกว่า 1,000 ภาพ จัดเป็นหมวดหมู่ตามปัญหาของโรคต่างๆ 20 หมวด พร้อมคำบรรยายและเนื้อหาสรุป นอกจากนี้ยังมีพจนานุกรมศัพท์วันละคำ ทำให้ผู้ใช้สามารถศึกษาลึกลงไปเป็นขั้นๆ ได้ รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีบทเรียนลักษณะอื่นๆ เช่น บทเรียนศัลยศาสตร์หัตถการ บทเรียนตำรา อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์จากภาควิชาศัลยศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้อำนวยการผลิตบทเรียนและเป็นผู้เรียบเรียงเนื้อหาบทเรียนชุดนี้ กล่าวว่าได้มีการนำเสนอสื่อมัลติมีเดียนี้ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติของสมาคมกุมารศัลยแพทย์แห่งราชอาณาจักรเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก และได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานวิชาการยอดเยี่ยมประเภทนิทรรศการ ส่วนบทเรียนเรื่องโรคในช่องปากเจ้าของเนื้อหาบทเรียนคือ รศ.ทญ.กอบกาญจน์ ทองประสม จากภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งการพัฒนาและผลิตสื่อประสมเผยแพร่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีพื้นฐานมาจากโครงการหน่วยผลิตและพัฒนาสื่อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และพัฒนาต่อโดยความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับภาคเอกชนคือ บริษัท Advanced vision System (AVS) จำกัด ซึ่งโปรแกรมแบบสำหรับการสร้างบทเรียนที่พัฒนาได้ใช้ชื่อว่า "จุฬาวิชช์" (CHULAVIS) ผู้จัดทำสื่อประกอบการเรียนเป็นทีมจากศูนย์ผลิตและพัฒนาสื่อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งของบริษัท AVS นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา กับภาคเอกชนในการพัฒนาด้านการศึกษา นอกจากบทเรียนด้านการศึกษาดังกล่าวแล้ว จุฬาฯ ยังผลิตบทเรียนภาษาไทยเผยแพร่บนเครือข่ายภายในจุฬาฯ (จุฬาเน็ต) ในระบบอินทราเน็ตอีกมากมายหลายร้อยเรื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่พยายามส่งเสริมให้อาจารย์ผลิตบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่นิสิตสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ศ.นพ.สุทธิพร กล่าวต่อไปว่า สื่อมัลติมีเดียของจุฬาฯ บนอินเตอร์เน็ตนี้นับเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่นำออกเผยแพร่เป็นวิทยาทานให้เกิดประโยชน์แก่นิสิต นักศึกษาทั้งในประเทศและทั่วโลกด้วย และปัจจุบันกำลังดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องขยายไปยังสาขาวิชาต่างๆ ให้กว่าขวางยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการก้าวไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ--จบ