แปรรูปผ้าทอเป็นกระเป๋า...การประยุกต์พัฒนาภูมิปัญญาสู่ความร่วมสมัย

ข่าวทั่วไป Sunday April 19, 2015 19:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--มหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบันกระแสความนิยมผ้าไทยกลับมาเฟื่องฟู การแต่งกายด้วยผ้าไทยในวันศุกร์ รวมถึงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ทำให้วงการทอผ้ามีชิวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความพยายามสร้างสรรค์รูปแบบ ลวดลาย สีสันให้มีความทันสมัยมากขึ้น ตลอดจนการแปรรูปผ้าทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า แต่ก็ดูเหมือนว่ากระเป๋าจากผ้าทอไม่ได้รับความนิยมมากนัก “ราคาแพง แบบก็ซ้ำ ๆ” “ไม่เข้ากับเสื้อผ้า เชยอีกต่างหาก” จากเสียงสะท้อนของผู้บริโภค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประยุกต์ พัฒนากระบวนการการแปรรูปผ้าทอเป็นกระเป๋าให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันสูงและแนวโน้มความนิยมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา “จากโครงการ ‘พัฒนาผ้าทอร่วมสมัย’ ซึ่งสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๗ ผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย ปี ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗ ตลอดจนจากการจัดแสดงสินค้า, การออกงานและจากวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทำให้กลุ่มทอผ้าหรือผู้ประกอบการหลายฝ่ายทำการคัดลอกสินค้า เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับกลุ่มทอผ้า สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินจึงเกิดแนวคิดที่จะประยุกต์ผ้าทอต้นแบบที่เป็นลวดลายของกลุ่มทอผ้า ให้เหมาะสมกับรสนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน” “ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการ “พัฒนาผ้าทอร่วมสมัย ระยะที่ ๒ : แปรรูปผ้าทอเป็นกระเป๋า” ขึ้น ในวันที่ ๒๕ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าทอ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบและการตัดเย็บให้เข้าถึงรสนิยมของผู้บริโภค” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงที่มาของโครงการ ตลอดระยะเวลา ๓ วัน สมาชิกกลุ่มทอผ้าในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ กลุ่มงานประดิษฐ์จากผ้า จังหวัดพิษณุโลก กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย กลุ่มทอผ้าบ้านหนองพง จังหวัดพิจิตร และกลุ่มผ้าชาวเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ศึกษา เรียนรู้กระบวนการประดิษฐ์กระเป๋าจากผ้าทอที่แต่ละกลุ่มจัดเตรียมมาเอง ตลอดจนได้รู้เทคนิค เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ พัฒนา สร้างสรรค์กระเป๋ารูปแบบต่าง ๆ จากวิทยากรคือ อาจารย์ทัศนีย์ อ่อนภูงา ข้าราชการบำนาญ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก “ปกติทางกลุ่มทำกระเป๋าจากผ้าทออยู่แล้ว เป็นผ้าจก ผ้ายกดอก ราคาจึงค่อนข้างสูง วันนี้เราได้มุมมองใหม่ในการทำกระเป๋าราคาย่อมเยาให้กับกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มคนทำงานช่วงวัยต้น ๆ ด้วยการพัฒนาลายใหม่ ลดทอนรายละเอียดลง เช่น แทนที่จะยกลวดลายจกมาทั้งผืน ก็หยิบเฉพาะลายนกคุ้ม ทำให้ได้กระเป๋าผ้าทอในแบบเก๋ไก๋ แปลกตา ราคาไม่สูง นอกจากนี้ยังได้เทคนิคในการสร้างแบบกระเป๋า คือไม่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ตลอดปี เราอาจจะมีกระเป๋าชูโรงแบบมาตรฐาน ๑ – ๒ แบบ ส่วนที่เหลือก็ปรับเปลี่ยนลูกเล่นให้เห็นว่าเราไม่อยู่นิ่ง” นางสาวรวีวรรณ ขนาดนิด รองประธานกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เช่นเดียวกับกลุ่มงานประดิษฐ์จากผ้า อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่นางระพี ทองทิพย์ ประธานกลุ่ม ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ได้รู้เทคนิคการนำสายหนังมาประยุกต์ใช้กับผ้าทอ และการปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี เราต้องปรับกลุ่มลูกค้าจากตลาดบนมาเป็นตลาดกลาง ซึ่งแน่นอนว่าต้องปรับลดราคา เราจึงต้องปรับกระบวนการผลิต ลดขั้นตอน ลดการปักมือ ลดรายละเอียดลง แต่ไม่ลดคุณภาพ” ผ้าทอไทยมีคุณค่าในตัว ด้วยความงดงามที่สอดแทรกเรื่องราว บอกเล่าภูมิปัญญาและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผสมผสานกับความร่วมสมัยในรูปแบบกระเป๋า จึงก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่หวังให้คนไทยชื่นชอบและเป็นที่นิยมในตลาดสากล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ