กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว ลุยพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ทดลองภาคสนามประเมินความถูกต้องเนื้อที่เพาะปลูกข้าวที่ได้จากโปรแกรม INAHOR ในกรณีที่พื้นที่นามีพื้นที่อื่นปะปน
นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว ซึ่ง สศก. ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asia Development Bank : ADB) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าว โดยนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้สนับสนุนการวางแผนด้านการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพระบบการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าวใน 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย ภายใต้กรอบการช่วยเหลือตามโครงการ R-CDTA 8369 Innovative Data Collection Methods for Agricultural and Rural Statistics โดยโครงการฯ มีระยะดำเนินงานพฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม พ.ศ.2559
สำหรับประเทศไทย สศก. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้นำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวของประเทศ นำร่องพื้นที่จังหวัดอ่างทอง โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม ALOS-2 ซึ่งเป็นข้อมูลดาวเทียมในระบบ SAR ที่มีคุณสมบัติสามารถถ่ายภาพทะลุเมฆได้ ทำให้ได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับวิเคราะห์แม้กระทั่งฤดูฝน ทั้งนี้ การดำเนินงานตามโครงการฯ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์และวิธีการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ร่วมกับวิธีการ Crop Cutting ในระดับจังหวัด และการฝึกอบรมคณะทำงานให้กับประเทศนำร่อง ทั้ง 4 ประเทศ และการพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมออนไลน์ (Online) ในการใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับงานด้านสถิติการเกษตรและชนบท ภายหลังจากที่มีการพัฒนาโปรแกรมแล้วเสร็จ
ในการนี้ เมื่อวันที่ 19 – 20 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ สศก. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก RESTEC ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภาคสนามภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวที่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย ทดลองการปฏิบัติงานภาคสนามในการตรวจสอบความถูกต้องของผลการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกข้าวที่ได้จากโปรแกรม INAHOR ในกรณีที่พื้นที่นามีพื้นที่อื่นปะปน หรือที่เรียกว่า MIXCEL เพื่อประเมินสัดส่วนของพื้นที่อื่นที่ปะปนกับพื้นที่ปลูกข้าว เนื่องจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ALOS2 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้แปลและวิเคราะห์ภายใต้โครงการฯ มีขนาดจุดภาพ 100 x 100 เมตร ซึ่งคิดเป็น 6.25 ไร่ต่อจุดภาพ โดยทำการสุ่มตัวอย่างในลักษณะสุ่มแบบอิสระ (Random Sampling) จำนวน 13 จุด ขนาด 200 x 200 เมตร
ผลการสำรวจภาคสนาม พบว่า พื้นที่นาข้าวส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีการปลูกข้าว เนื่องมาจากการนโยบายของภาครัฐในการไม่สนับสนุนให้เกษตรกรทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่คาดว่ารอบการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2558/59 เกษตรกรในพื้นที่จะมีการทำนา นอกจากนี้ จากการสำรวจภาคสนาม พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปะปน ได้แก่ อ้อยโรงงาน พืชผัก ไม้ผล บึง คลอง และถนน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 - 25 มีนาคมที่ผ่านมา สศก. ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรม INAHOR ครั้งที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งส่วนกลาง นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายที่อยู่ในภูมิภาค และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น