กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลงานรัฐบาลรอบ 6 เดือนกับการให้โอกาสนายกรัฐมนตรี ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนใน 19 จังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศไทย
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่องผลงานรัฐบาลรอบ 6 เดือนกับการให้โอกาสนายกรัฐมนตรีในการทำงานเพื่อประเทศชาติ : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 1,080 ตัวอย่าง จาก 19 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สระบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ยโสธร สุรินทร์ เลย หนองบัวลำภู แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ สุราษฎร์ธานี ปัตตานี สงขลา ดำเนินโครงการในวันที่ 17-19 เมษายน 2558 ผลการสำรวจพบว่า
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 58.1 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 27.4 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.4 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 4.5 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ประเด็นสำคัญของการสำรวจวิจัยในครั้งนี้คือ คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนเกี่ยวกับผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาโดยให้แกนนำชุมชนระบุความคิดเห็นว่าในการดำเนินงานแต่ละนโยบายนั้นรัฐบาล “สอบผ่าน” หรือ “สอบไม่ผ่าน” ซึ่งผลการสำรวจพบว่าผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่แกนนำชุมชนระบุให้สอบผ่าน สามารถเรียงตามลำดับได้ ดังนี้ ลำดับที่ 1 คือนโยบายการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ (ร้อยละ 99.0 ) ลำดับที่ 2 นโยบายการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร/การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (ร้อยละ 93.2) ลำดับที่ 3 นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ (ร้อยละ 92.5 ) ลำดับที่ 4 นโยบายการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ (ร้อยละ 92.1) และลำดับที่ 5 คือ นโยบายด้านการศึกษาและเรียนรู้การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม (ร้อยละ 90.4 )
นอกจากนี้ยังมีนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 86.8 ระบุให้สอบผ่าน นโยบายการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 85.4 ระบุให้สอบผ่าน นโยบายการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 84.4 ระบุให้สอบผ่าน นโยบายการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 83.4 ระบุให้สอบผ่าน นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 83.3 ระบุให้สอบผ่าน ในขณะที่นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 63.3 ระบุให้สอบผ่าน ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจของแกนนำชุมชนที่มีต่อผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาลพบว่าโดยภาพรวมมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 8.23 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาวิเคราะห์จำแนกตามจุดยืนที่มีต่อ คสช.และรัฐบาลนั้นพบว่า ในกลุ่มที่ระบุไม่สนับสนุน คสช.และรัฐบาลมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 6.40 กลุ่มที่ขออยู่ตรงกลาง มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 7.55 ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนคสช.และรัฐบาลมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยอยู่ที่ 8.54 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไปนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 6.6 ระบุให้โอกาสอีก 1 ปี ร้อยละ 9.7 ระบุ ให้โอกาศอีก 2 ปี ร้อยละ 4.9 ระบุให้โอกาสอีก 3 ปี ร้อยละ 3.8 ระบุให้โอกาสอีก 4 ปี ทั้งนี้พบว่าแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษามากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 75.0 ระบุให้ทำงานต่อไปจนกว่าจะแก้ไขปัญหาของประเทศได้สำเร็จ
ประเด็นสำคัญสุดท้ายเมื่อสอบถามแกนนำชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงความนิยมที่มีต่อรัฐบาลและ คสช. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 มีความนิยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 11.1 ระบุลดความนิยมลง และร้อยละ 8.6 ไม่มีความคิดเห็น
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
กลุ่มตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 84.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 15.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 7.0 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 30.0 ระบุอายุระหว่าง 40 – 49 ปี และร้อยละ 63.0 ระบุมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ร้อยละ 84.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 13.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.9 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 16.1 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 27.8 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 20.9 ระบุมีรายได้ 15,001 – 20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 35.3 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ