กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันที่ ๑๗ เม.ย. ๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมงานการแถลงผลงานรัฐบาลรอบ ๖ เดือน (๑๒ ก.ย. ๒๕๕๗ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘) โดยเน้นนิทรรศการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์แก่ผู้เข้าชมงาน
พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกระทรวงภาคสังคมในการทำหน้าที่เป็นองค์การและกลไกสำคัญด้านสังคมในการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ และความมั่นคงในชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถบรรลุนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยผลการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีผลงานสำคัญ ในรอบ ๖ เดือน(๑๒ ก.ย. ๒๕๕๗ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘) ดังนี้
๑) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
๒) การแก้ไขปัญหาการขอทานทั่วประเทศ
๓) การพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายด้านสังคม
๔) การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมอย่างครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา
๕) การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
๖) การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
๗) การเสริมพลังสตรีด้วยความเสมอภาคหญิงชาย ลดความรุนแรงทางเพศ และสร้างครอบครัวอบอุ่น
๘) การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์สังคมเข้มแข็ง
๙) การพัฒนาและสร้างความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย
๑๐) การพัฒนาบุคลากร
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่ได้ดำเนินการเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่องและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ผลักดันเร่งรัด ติดตาม เฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูล และรายงานผลการดำเนินการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ทำงานบูรณาการ ตามหลักมาตรฐานสากล ๕P คือ
๑) Policy and Mechanism ด้านนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ
๒) Prosecution ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย
๓) Protection ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ
๔) Prevention ด้านการป้องกัน
๕) Partnership and International Cooperation ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและความร่วมมือระหว่างประเทศ
โดยตัวอย่างการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เชิงรุกและบูรณาการ จะเห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากกรณีการจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างที่เกาะอัมบน และเกาะเบนจิน่า และสามารถช่วยเหลือนำลูกเรือประมงไทยกลับมาประเทศไทยได้ จำนวน ๖๘ คน เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘
“ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยประชาสัมพันธ์ช่องทางการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคม สามารถขอความช่วยเหลือมาที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย