กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
การวางรากฐานทางการเงินในระดับครัวเรือนให้พร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน การออมและการลงทุนระยะยาวเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาภาครัฐส่งเสริมการเตรียมพร้อมด้านการออมและการลงทุนระยะยาวมาอย่างต่อเนื่องและมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ
ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนระยะยาวมากขึ้น โดยการออมและการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม และประกันชีวิตรวมกันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 15% ของ GDP ในปี 2544 เป็น 40% ของ GDP ในปี 2557 ในขณะที่สินทรัพย์ทั้งหมดดังกล่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 16% ของสินทรัพย์รวมของครัวเรือนไทยในปี 2544 เป็น 32% ในปี 2557
การเติบโตของการออมและการลงทุนระยะยาวภาคสมัครใจโดยเฉพาะ LTF เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการส่งเสริมโดยภาครัฐด้วยมาตรการทางภาษี แม้เงื่อนไขด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะกำหนดให้ถือครอง 5 ปีปฏิทิน แต่รูปแบบการลงทุนในLTF สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการลงทุนระยะยาวโดยมูลค่าลงทุนสุทธิ (ซื้อ-ขายคืน) ใน LTF มูลค่าซื้อ LTF เฉพาะในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1 หมื่นล้านบาทมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 และล่าสุดในเดือนธันวาคม 2557 มูลค่าซื้อ LTF สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่า 22,438 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าขายคืน LTF กระจุกตัวอยู่ในเดือนมกราคม และมูลค่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อในเดือนธันวาคม
การลงทุนใน LTF มีรูปแบบคล้ายกับ RMF (ตราสารทุน) คือมูลค่าลงทุนสุทธิ (ซื้อ-ขายคืน) ในเดือนธันวาคมสูงกว่าเดือนอื่น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่แตกต่างกันในด้านการขายคืนโดยมูลค่าขายคืน RMF (ตราสารทุน) ไม่ได้กระจุกอยู่ในเดือนมกราคม แต่จะมีการขายคืนทุกเดือนด้วยมูลค่าที่ไม่แตกต่างกันมากนัก นอกจากนี้ตั้งแต่เริ่มมีกองทุน LTF (ตุลาคม 2547) จนถึงมกราคม 2558 มูลค่าลงทุนสุทธิสะสมใน LTF อยู่ที่ระดับ 1.54 แสนล้านบาทซึ่งสูงกว่าใน RMF (ตราสารทุน) และกองทุนรวมตราสารทุนทั่วไป
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา LTF RMF (ตราสารทุน) และกองทุนรวมตราสารทุนทั่วไปให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 11% ต่อปี โดยผลตอบแทนสุทธิของ LTF และ RMF (ตราสารทุน) ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนทั่วไปทำให้มีผลตอบแทนสูงขึ้นอีก
แม้ว่าสินทรัพย์เพื่อการออมและการลงทุนระยะยาวในประเทศไทยจะเติบโต แต่สัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์เพื่อการออมและการลงทุนระยะยาวของครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32% ของสินทรัพย์รวมซึ่งต่ำกว่าครัวเรือนสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนการออมและการลงทุนระยะยาวเฉลี่ย 45% ของสินทรัพย์รวม ยิ่งกว่านั้นมูลค่าสินทรัพย์เพื่อการออมและการลงทุนภาคครัวเรือนของไทยมีมูลค่าต่ำกว่าสิงคโปร์มากโดยสัดส่วนสินทรัพย์ฯ ของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 1.25 เท่าของ GDP ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 2.40 เท่าของ GDP
ภาครัฐจึงควรดำเนินมาตรการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาวทุกประเภทอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคสมัครใจ อีกทั้งควรสนับสนุนการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการออมและการลงทุนระยะยาวให้ครอบคลุมครัวเรือนทั่วประเทศ การพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมควรคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศในภาพรวมโดยอาจต้องยอมลดภาษีที่จัดเก็บได้ลงเพื่อแลกกับการเติบโตของการออมและการลงทุนระยะยาวภาคสมัครใจซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระรัฐสวัสดิการในระยะยาวเพื่อวางรากฐานทางการเงินในระดับครัวเรือนให้พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ