กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
นายภควันทน์ สาระกิจ นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นำอัตลักษณ์วัดอรุณราชวราราม มาต่อยอดเป็นลายกราฟิกบนลวดลายผ้า 5 แบบ มีความเป็นไทยร่วมสมัย และยังนำไปต่อยอดออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
เจ้าของผลงาน เล่าว่า วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นวัดที่ประดิษฐาน “พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม” พระมหาธาตุหลวงประจำกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบราณสถานสถาปัตยกรรมที่สวยงาม คือ พระพุทธปรางค์ พระวิหาร รูปยักษ์ยืน มณฑปพระพุทธจำลอง และเจดีย์สี่องค์ ด้วยตนเองจะไปทำบุญที่วัดบ่อยครั้ง จึงเห็นถึงความสวยงามขอสถาปัตยกรรม ตนเองจึงได้นำโครงสร้างสถาปัตยกรรมภายในวัดอรุณราชวรารามมาสร้างเป็นลวดลายกราฟิก ซึ่งต้องการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลวดลายไทยเสมอไป ซึ่งเมื่อนานไปจะทำให้ลวดลายเกิดความเชย ซึ่งอัตลักษณ์จะเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกความเป็นตัวตน สร้างความชัดเจนและโดดเด่นตลอดจนเป็นจุดน่าสนใจ สะท้อนถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี
ตนเองจึงได้เริ่มสืบค้น ค้นคว้าจากตำราหนังสือ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดทำลวดลายที่มีแนวคิดมาจากอัตลักษณ์วัดอรุณราชวราราม โดยตนเองนำโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม มาถ่ายทอดโดยการออกแบบเป็นลวดลายกราฟิก เพื่อแสดงให้เห็นถึงอารมณ์และความน่าประทับใจของสถานที่ สร้างความแตกต่างไปจากเดิม มีความแปลกใหม่ด้วยการทำลายบริบทเดิม แล้วสร้างบริบทใหม่ขึ้นมาให้เข้ากับช่วงเวลาและยุคปัจจุบัน ขั้นตอนการออกแบบลวดลายกราฟิก 1. การหาแนวความคิด จากการศึกษาข้อมูลพบว่าโครงสร้างสถาปัตยกรรมไทย มีโครงสร้างที่ใช้หลักองค์ประกอบศิลป์พื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการซ้ำ การซ้อน การลดหลั่นของขนาด การสมมาตร ตนเองจึงใช้หลักในการจัดวางลวดลายจากองค์ประกอบศิลป์พื้นฐาน มาเป็นแรงบันดาลใจในโครงการออกแบบลวดลายกราฟิก 2. กลุ่มเป้าหมาย จากสถิติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่าอันดับประเทศที่มาเที่ยวเมืองไทยมากที่สุดเป็นฝั่งยุโรป กลุ่มคนอายุระหว่าง 20-30 ปี โดยกลุ่มนี้เป็นวัยรุ่นที่อยู่ในยุคของเทคโนโลยี ชีวิตตามกระแส ตัดสินใจซื้อของจากความสุขนิยม
ในขั้นที่ 3. การศึกษาแบรนด์ DNA ตนเองได้ศึกษาโครงสร้างการใช้ทฤษฎีการออกแบบ สัญศาสตร์ คือ การผสมวิธีแนวความคิดให้มีความเป็นไทยร่วมสมัยมากขึ้น 4. การศึกษาสีไทยโทน ยกตัวอย่างคนไทยมีความเชื่อว่า สีแดง คือ สีการสร้างบรรยากาศของสวรรค์ 5. สเก็ตภาพโครงสร้างสถาปัตยกรรม และ 6. นำมาออกแบบลวดลายกราฟิก เกิดเป็นลวดลาย 5 แบบ ได้แก่ 1. ลวดลายกราฟิกบนผ้าที่รับแนวความคิดจากสถาปัตยกรรมมณฑป การจัดวางที่น่าสนใจ 2. ลวดลายกราฟิกบนผ้าที่รับแนวความคิดจากสถาปัตยกรรมเจดีย์สี่องค์ ใช้โทนสีที่น่าสนใจ มีการจัดวางในรูปแบบที่สร้างสรรค์ 3. ลวดลายกราฟิกบนผ้าที่รับแนวความคิดจากสถาปัตยกรรมยักษ์ยืน ลวดลายมีความทันสมัย มีอารมณ์ของความสนุกสนาน 4. ลวดลายกราฟิกบนผ้าที่รับแนวความคิดจากสถาปัตยกรรมพระวิหาร และ 5. ลวดลายกราฟิกบนผ้าที่รับแนวความคิดจากสถาปัตยกรรมพระปรางค์
สำหรับลวดลายทั้ง 5 แบบสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นเครื่องอุปโภค เช่น เครื่องแต่งกาย และสามารถนำไปศึกษาต่อยอดได้อีก ไทยร่วมสมัยจะเป็นการยกระดับความเป็นสากลมากขึ้น เช่นเดียวกับการออกแบบลวดลายกราฟิกอัตลักษณ์โครงสร้างสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม ภควันทน์กล่าวทิ้งท้าย