กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งและผลงานที่เป็นที่ยอมรับในสายธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งได้แก่ การให้บริการด้านระบบสารสนเทศผ่านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ (IT Solutions) และการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สถานะทางธุรกิจของบริษัทที่แข็งแกร่งได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจและความมั่นคงของกระแสเงินสดจากธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศและธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันในระดับปานกลางในธุรกิจ IT Solutions และการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงความผันผวนของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ และภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในสายธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาสมดุลระหว่างแผนการเติบโตกับโครงสร้างหนี้สินเพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ระดับประมาณ 60%
ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัท คือ การลงทุนด้วยการก่อหนี้ขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก นอกจากนี้ การทำกำไรของบริษัทสามารถ ไอ-โมบายที่ลดลงกว่าที่คาดไว้อันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ บริษัทมีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในกรณีที่สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้โดยได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่มากขึ้นและมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบริการที่มีรายได้สม่ำเสมอเพิ่มขึ้น
บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นก่อตั้งในปี 2493 โดยกลุ่มตระกูลวิไลลักษณ์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 และ ณ สิ้นปี 2557 กลุ่มตระกูลวิไลลักษณ์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 44%
บริษัทเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นและยังมีรายได้จากการประกอบธุรกิจของตนเองด้วย ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สายธุรกิจ IT Solutions สายธุรกิจ Mobile Multimedia ที่เกี่ยวกับธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ การให้บริการข้อมูล ข่าวสาร และบันเทิง ตลอดจนให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MVNO) นอกจากนี้ ยังมีสายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี (Technology-related Business) ซึ่งรวมถึงศูนย์ให้บริการลูกค้า (Contact Center) และสายธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและขนส่ง (Utilities and Transportation Service Business) โดยสายธุรกิจ IT Solutions ดำเนินการโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL) ส่วนสายธุรกิจ Mobile Multimedia ดำเนินการโดย บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) (SIM) ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่เหลือดำเนินงานโดยบริษัทลูกอื่น ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนอย่างละ 70% ในบริษัทสามารถเทลคอม บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย และบริษัทวันทูวัน คอนแทคส์
บริษัทมีรายได้ 23,880 ล้านบาทในปี 2557 โดยสายธุรกิจ Mobile Multimedia เป็นสายธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทในสัดส่วน 52% ของรายได้รวมในปี 2557 ส่วนสายธุรกิจ IT Solutions สร้างรายได้ในสัดส่วน 27% และสร้างกำไรให้แก่บริษัทราว 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในขณะที่สายธุรกิจ Mobile Multimedia สร้างกำไรประมาณ 28%
สถานะทางธุรกิจของบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นขับเคลื่อนไปได้ด้วยสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสามารถเทลคอมและบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย โดยบริษัทสามารถเทลคอมมีผลงานเป็นที่ยอมรับในโครงการที่หลากหลายและความสามารถในการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงรักษา นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจของบริษัทสามารถเทลคอมยังได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจจัดการจราจรทางอากาศและธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศกัมพูชาด้วย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในประเทศกัมพูชาสร้างกำไรให้แก่บริษัทเพียงประมาณ 9% ของ EBITDA รวมของบริษัท ส่วนบริษัทสามารถ ไอ-โมบายนั้นเป็นผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 3 ในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดรวม จุดแข็งของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย คือตราสินค้า “ไอ-โมบาย” ซึ่งเป็นตราสินค้าหลักที่บริษัทสร้างขึ้นเองและการมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นยังพิจารณาจากผลประกอบการที่ผันผวนของบริษัทสามารถเทลคอมจากธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบที่มีขนาดมูลค่าโครงการแตกต่างกันมากและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่
ในช่วงปี 2558-2560 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสร้างรายได้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจะมาจากผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทสามารถ ไอ-โมบายซึ่งได้รับแรงผลักดันจากความนิยมในการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน (Smart Phone) และการขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปริมาณมากให้แก่ผู้ประกอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ รายได้จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกจากการขายกล่องรับสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-top Box) และเสาอากาศสำหรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลและรายได้จากสัญญาใหม่ ๆ ในโครงการสถานีไฟฟ้าย่อยและธุรกิจด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้ของบริษัทสามารถเทลคอมได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณของภาครัฐ
บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในช่วงปี 2555-2556 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 18%-19% จากระดับเฉลี่ยที่ 12% ในช่วงปี 2552-2554 โดยเป็นผลมาจากอัตราส่วนกำไรจากบริษัทสามารถ ไอ-โมบายและบริษัทสามารถเทลคอมที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานในปี 2557 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 15.9% เนื่องจากอัตราส่วนกำไรในธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรง ในช่วงปี 2558-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งสะท้อนความคาดหวังว่ารายได้ของบริษัทสามารถ ไอ-โมบายจะยังคงเติบโต ในขณะที่อัตราส่วนกำไรได้รับแรงกดดันจากการแข่งขัน และคาดว่าอัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยของบริษัทสามารถเทลคอมจะสูงกว่า 23% ในช่วงปี 2558-2560
ในช่วงปี 2558-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านบาทต่อปี มีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับที่สูงกว่า 7 เท่า และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมสูงกว่า 18%
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 61.8% ณ สิ้นปี 2557 เพิ่มขึ้นจาก 53% ในปี 2556 ซึ่งเป็นผลจาการเพิ่มขึ้นของหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทสามารถ ไอ-โมบายและเพื่อใช้เป็นเงินทุนของบริษัทในการซื้อหุ้นบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทสามารถ ไอ-โมบายจะลดภาระลูกหนี้และสินค้าคงคลังลงรวมทั้งลดภาระหนี้ที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามไปด้วย ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2558-2560 โดยรวมอยู่ที่ 4,000 ล้านบาทเพื่อใช้สนับสนุนโครงการให้บริการด้านระบบสารสนเทศของบริษัทสามารถเทลคอมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อันดับเครดิตได้พิจารณารวมไปถึงการจ่ายเงินปันผลในอัตราประมาณ 60% ของกำไร รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจและการซื้อกิจการที่อาจจะมีขึ้นในระดับที่จะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 60% ในช่วงระหว่างปี 2558-2560 ด้วย
บริษัทกำลังแสวงหาโอกาสทางการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การขยายธุรกิจในอนาคตจะนำมาซึ่งโอกาสในการเติบโต แต่ก็อาจทำให้บริษัทต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นด้วย การลงทุนหรือการซื้อกิจการใดใดที่ใช้เงินทุนจากการก่อหนี้ก้อนใหญ่อาจส่งผลต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตจะพิจารณาถึงคุณภาพของโครงการการลงทุนพร้อมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนด้วย
บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable