กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
คณะพาณิชย์ จุฬาฯ ชูจุดขายมาตรฐานรับรองคุณภาพการศึกษาจาก AACSB และ EFMD หวังดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำโลกร่วมผนึกกำลังเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อแข่งขันในตลาดเอเชียแปซิฟิก
คณะพาณิชย์ จุฬาฯ งัดกลยุทธ์ 3I สร้างแบรนด์ มุ่งสู่การเป็น บิสซิเนส สคูล ชั้นแนวหน้าในตลาดเอเชียแปซิฟิก หลังบรรดามหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งฝั่งยุโรป และอเมริกาจ้องบุกเอเชียตามเทรนด์ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก คณบดีแจงมาตรฐานรับรองคุณภาพการศึกษาจาก AACSB และ EFMD คือ จุดขายที่จะดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำโลกร่วมพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าการที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนทิศมายังเอเชีย ทำให้เอเชียไม่เพียงเป็นจุดสำคัญในภาคธุรกิจ แต่ยังทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำโลกทางฟากฝั่งอเมริกา และยุโรป เตรียมรุกคืบเข้ามาในเอเชีย ด้วยการเล็งหามหาวิทยาลัยเกรดดี มาเป็นพันธมิตร ซึ่งตรามาตรฐานรับรองคุณภาพการศึกษาที่ทางคณะฯ ได้รับจาก AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) และ EFMD (The European Foundation for Management Development) สององค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลกถือเป็นจุดขายที่จะดึงดูดมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา และยุโรปเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ระดับคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงส่งผลในด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสากล แต่ยังหมายถึงการเข้าไป มีบทบาทชี้นำเศรษฐกิจโลกผ่านการเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ
“แนวโน้มสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ หรือ Business School คล้ายกับธุรกิจที่ต้องขยายตลาด เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป อเมริกา จะบุกเข้ามาในแถบเอเชีย หลังทิศทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง โดยพุ่งเป้าที่ตลาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย เพราะมีประชากรจำนวนมาก ตลาดรองลงมา คือ ตลาดที่ พูดภาษาอังกฤษได้ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแม้กระทั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ถือเป็นตลาดรอง เพราะมีเป้าหมายอยากศึกษาพวกบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง โตชิบา ส่วนของไทยเองจะอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา วิธีการ คือ เขาจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศนั้นๆ ฉะนั้นต่อไปเด็กจบปริญญาตรี ถ้าอยากเรียนมหาวิทยาลัยฝั่งอเมริกาก็จะไปเรียนที่สิงคโปร์ อยากเรียนมหาวิทยาลัยของทางยุโรป ก็จะไปเรียนที่เมืองจีน สุดท้ายแล้วจะทำให้เราถูกปิดทางสู่ตลาดสากล” รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ กล่าว
ทั้งนี้ แม้จุฬาลงกรณ์ จะเป็นมหาวิทยาลัยของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะพาณิชย์ จุฬาฯ ต้องตื่นตัวในการพัฒนา เพื่อให้ เท่าทันกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการสร้างแบรนด์คณะพาณิชย์ จุฬาฯ หรือ CBS (Chulalongkorn Business School) ให้คงความขลังในการเป็น Business School ที่เก่าแก่ครบ 77 ปีของไทย ผนวกกับการเป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ๆ สู่ภาคการศึกษาด้านธุรกิจ และภาคเศรษฐกิจ โดยแนวทางการสร้างแบรนด์ CBS จะเริ่มจากการกำหนดแบรนด์ดีเอ็นเอขึ้นมาด้วยการใช้กลยุทธ์ 3I คือ Innovation การเป็นสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอต่อภาคสังคมเศรษฐกิจอยู่เสมอ Internationalization มีความเป็นสากลทั้งบรรยากาศ และหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเตรียมพร้อมนิสิตนักศึกษาในการเป็นบุคลากรระดับคุณภาพสากล และ Impact ที่ส่งผลสู่ภาคธุรกิจ
“เพื่อให้คณะฯ มีศักยภาพการแข่งขันเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายประเทศเปิดเสรีการแข่งขันทางด้านการศึกษา โดยที่รัฐบาลในต่างประเทศให้ทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยของตนอย่างเต็มที่ แต่สำหรับสถาบันการศึกษาของไทยแล้ว กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่ากับมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แต่ละแห่งต้องหาทรัพยากร เพื่อพัฒนาสถาบันตนเองด้วยแนวทางต่างๆ กันออกไป คณะเองก็ได้พัฒนาหลักสูตรทั้งในด้านการบริการวิชาการ และหลักสูตรระดับปริญญาโทที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ เช่น วิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering) ซึ่งดำเนินการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินต่างๆ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรประกันภัย เพื่อตอบสนองธุรกิจที่กำลังเติบโต และต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถรองรับ การมีทรัพยากรในการพัฒนาคณะที่แข็งแกร่ง หมายถึง ศักยภาพในการพัฒนาอาจารย์ บุคลากร และหลักสูตรต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการชี้นำภาคธุรกิจ และสามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง อันจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับคณะพาณิชย์ จุฬาฯ หรือ CBS พร้อมก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นบิสซิเนส สคูล ชั้นนำในเอเชียแปซิฟิกที่ทั่วโลกตระหนักถึง” รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย