กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง พฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทย: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่บริโภคกาแฟและพักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง พฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทย: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่บริโภคกาแฟและพักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) จำนวนทั้งสิ้น 1,215 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-22 เมษายน 2558 พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
จากผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทย พบว่า เมื่อมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงเหตุผลในการเริ่มลองดื่มกาแฟครั้งแรก ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 38.0 ให้เหตุผลในการเริ่มลองดื่มครั้งแรกเพราะว่าอยากชิม อยากลองดื่ม รองลงมาร้อยละ 34.3 ดื่มเพราะง่วง ง่วงจนทนไม่ไหว ร้อยละ 7.4 ดื่มตามเพื่อน ร้อยละ 6.9 เพราะชอบกลิ่นหอมของกาแฟ ร้อยละ 4.1 ดื่มเพื่อคลายเครียด/แก้ปวดหัว ร้อยละ 3.3 ดื่มแล้วทำให้ร่างกายสดชื่น และร้อยละ 6.0 ให้เหตุผลอื่นๆ อาทิ ดื่มเพื่อลดความอ้วน/ดื่มเพื่อสุขภาพ/เพื่อนซื้อให้ดื่ม และเมื่อสอบถามต่อไปถึงกาแฟที่ดื่มครั้งแรก พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 40.7 ระบุครั้งแรกที่ดื่มเป็นกาแฟกระป๋อง รองลงมา ร้อยละ 31.4 ระบุครั้งแรกที่ดื่มเป็นกาแฟสด ร้อยละ 11.5 ครั้งแรกที่ดื่มเป็นกาแฟชงเอง ร้อยละ 16.4 ระบุ อื่นๆ อาทิ กาแฟดำ/กาแฟเพื่อสุขภาพ/กาแฟลดความอ้วน
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่ทำให้ดื่มกาแฟในปัจจุบัน 5 อันดับแรก พบว่า อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 60.9 ระบุดื่มเมื่อรู้สึกง่วงนอน อันดับที่ 2 หรือร้อยละ 34.5 ระบุเพื่อให้ร่างกายตื่นตัว อันดับที่ 3 หรือร้อยละ 25.6 ระบุเพราะติดกาแฟ อันดับที่ 4 หรือร้อยละ 21.6 ระบุแก้เครียด/แก้อาการปวดหัว และอันดับที่ 5 หรือร้อยละ 6.8 ระบุเพื่อนดื่มเลยดื่มตาม ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงประเภทของกาแฟที่ชอบดื่ม พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.8 ระบุชอบดื่มกาแฟเย็นมากกว่า โดยชนิดของกาแฟเย็นที่ชอบดื่ม ได้แก่ กาแฟสด (ร้อยละ 60.0) กาแฟแบบชงเอง (ร้อยละ 26.7) กาแฟแบบกระป๋อง (ร้อยละ 6.3) ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ระบุชอบดื่มกาแฟร้อนมากกว่า โดยชนิดของกาแฟร้อนที่ชอบดื่ม ได้แก่ กาแฟแบบชงเอง (ร้อยละ 43.6) กาแฟสด (ร้อยละ 36.4) และ กาแฟแบบอื่นๆ อาทิ กาแฟดำ กาแฟเพื่อสุขภาพ กาแฟลดความอ้วน (ร้อยละ 20.0)
นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงจำนวนกาแฟที่ดื่มในแต่ละวัน พบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.2 ระบุดื่มวันละ 1 แก้วต่อวัน รองลงมา ร้อยละ 34.5 ระบุดื่มวันละ 2 แก้วต่อวัน ร้อยละ 6.1 ระบุดื่มวันละ 3 แก้วต่อวัน และ ร้อยละ 5.2 ระบุดื่มมากกว่า 3 แก้วต่อวัน โดยเฉลี่ยราคากาแฟต่อแก้วที่ดื่มเป็นปกติอยู่ที่ แก้วละ 25 – 65 บาท อย่างไรก็ตามตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3 ระบุชอบไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ/ซุ้มกาแฟ รองลงมา ร้อยละ 30.2 ระบุชอบไปนั่งดื่มที่ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในปั้มน้ำมัน และร้อยละ 12.5 ระบุชอบไปนั่งดื่มที่ร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า
สำหรับคนที่ดื่มกาแฟแล้วเมื่อสอบถามถึงสิ่งที่ชอบทานคู่กับกาแฟ พบว่า ตัวอย่างกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.1 ระบุชอบทานกาแฟคู่กับขนมปังปิ้ง/ขนมปังชุมไข่ปิ้ง รองลงมา ร้อยละ 18.7 ระบุชอบทานคู่กับขนมเค้ก ร้อยละ 12.1 ระบุชอบทานคู่กับแยมโรล ร้อยละ 11.2 ระบุชอบทานคู่กับขนม ร้อยละ 6.0 ระบุชอบทานคู่กับคุกกี้ ร้อยละ 2.4 ระบุชอบทานคู่กับครัวซอง และ ร้อยละ 11.5 ระบุอื่นๆ อาทิ พาย/ปาท่องโก๋/แซนวิช/โดนัท/ผลไม้ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.7 ระบุชอบดื่มกาแฟอย่างเดียว ส่วนบุคคลที่ดื่มกาแฟด้วยมากที่สุด ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.6 ระบุชอบดื่มกาแฟคนเดียว ร้อยละ 24.7 ระบุชอบดื่มกาแฟกับเพื่อน/เพื่อนที่ทำงาน ร้อยละ 3.8 ระบุชอบดื่มกาแฟกับแฟน/คนรัก และร้อยละ 5.9 ระบุ อื่นๆ อาทิ เจ้านาย/หัวหน้า/พ่อ/แม่/พี่/น้อง/ญาติ ตามลำดับ
และเมื่อสอบถามถึงช่วงเวลาที่ดื่มกาแฟ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.2 ระบุดื่มในช่วงเวลาหลังอาหารกลางวัน-เย็น รองลงมา ร้อยละ 40.7 ระบุเริ่มดื่มตั้งแต่ตื่นนอน-ก่อนรับประทานอาหารเช้า ร้อยละ 25.9 ระบุหลังมื้ออาหารเช้า-เที่ยง ร้อยละ 12.4 ระบุระหว่างอาหารกลางวัน ร้อยละ 10.0 ระบุหลังมื้ออาหารเย็น-ช่วงเวลากลางคืน ก่อนนอน ร้อยละ 4.5 ระบุ ระหว่างมื้ออาหารเช้า และร้อยละ 3.1 ระบุระหว่างมื้ออาหารเย็น ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการเลิกดื่มกาแฟ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ระบุไม่เลิกดื่มกาแฟ ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ระบุคิดที่จะเลิกดื่มกาแฟ โดยให้เหตุผลว่า กลัวอ้วน /ดื่มแล้วหน้าแก่/ทำให้แก่เร็ว/กลัวติดกาแฟ/ ไม่ดีต่อสุขภาพ
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างร้อยละ 50.4 เป็นเพศหญิง ในขณะที่ร้อยละ 49.6 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 6.0 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 15.6 ระบุอายุ 20–29 ปี ร้อยละ 22.8 ระบุอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 23.9 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 31.7 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเมื่อพิจารณาระดับการศึกษาชั้นสูงสุดที่สำเร็จมาพบว่า ร้อยละ 68.0 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 28.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.9 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 15.1 ระบุมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 27.8 มีรายได้ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 17.3 ระบุมีรายได้ 10,001-15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 21.8 ระบุมีรายได้ 15,000-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 18.0 ระบุมีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน