กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สมศ. เร่งเครื่องสร้างความพร้อมประเมิน รอบ 4 ปี 59-63 รุกติวเข้มผู้ประเมินทั่วประเทศ พร้อมชี้ประเทศไทยต้องสะท้อนปัญหาการศึกษาที่แท้จริง
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผย 4 กลยุทธ์ กรอบการดำเนินงานในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ ให้มีมาตรฐานและการดำเนินการด้านประกันคุณภาพไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้ชื่อ (ASEAN Quality Assurance Framework in Higher Education : AQAF) เพื่อเป็นกรอบการประกันคุณภาพด้านอุดมศึกษาของอาเซียน ให้สามารถเทียบเคียงมาตรฐานใช้อ้างอิงระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรือการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการศึกษา เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้การเคลื่อนย้ายนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปิดเสรีแรงงาน อันถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันทั่วอาเซียนมีจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษากว่า 12 ล้านคน และสำหรับประเทศไทยที่มีนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจบการศึกษาแต่ละปีกว่า 300,000 คน ดังนั้นหน่วยงานประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกกลุ่มประเทศอาเซียน จึงได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ The ASEAN Quality Assurance Network (AQAN) โดยมีผู้อำนวยการ สมศ. เป็นประธานเครือข่าย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำคู่มือ ASEAN Quality Assurance Framework (AQAF) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภูมิภาคอาเซียนขึ้น เป็นเครื่องมือในการเทียบเคียงมาตรฐาน และการดำเนินการด้านประกันคุณภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ ให้มีการดำเนินการด้านประกันคุณภาพไปในทิศทางเดียวกัน ด้วย 4 กลยุทธ์ ดังนี้
1. หน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอก (Principles of External Quality Assurance Agency) คือหน่วยงานการประกันคุณภาพภายนอกของทั้ง 10 ชาติอาเซียน กำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกัน อาทิ ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ มีระบบคณะกรรมการที่โปร่งใส่ มีระบบการควบคุมตรวจสอบที่เชื่อถือได้ เป็นต้น
2. ระบบการประเมินคุณภาพภายนอก (Principles of External Quality Assurance Processes) คือ การกำหนดมาตรฐานของผู้ประเมิน เพื่อเป็นการประกันว่าผู้ประเมินมีความเป็นมืออาชีพและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประเมิน เป็นต้น
3. การประกันคุณภาพภายใน (Principles of Internal Quality Assurance) คือการดำเนินงานที่ทุกภาคส่วนของแต่ละสถาบันได้ร่วมกันวางแผน ปฏิบัติ และตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร เกิดเป็นวัฒนธรรมคุณภาพ โดยมีการประเมินภายในของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น
4. กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (Principles of National Qualifications Framework) คือ กรอบมาตรฐานที่ใช้เป็นเครื่องมือที่แสดงระบบคุณวุฒิและมาตรฐานการวัดการศึกษา เป็นประโยชน์สำหรับการเลื่อนคุณวุฒิระดับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และเทียบผลการเรียนรู้จากการเรียนรู้ระดับต่างๆ และช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการเคลื่อนย้ายบุคลากรอาชีพต่างๆ ด้วยกระบวนการยอมรับคุณวุฒิการศึกษารวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ (lifelong learning)
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานหลักการทั้ง 4 ระบบ ได้ส่งเสริมให้ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนไปปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การนำไปใช้นั้นจะมีมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการรวมกลุ่มเครือข่ายการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น จะช่วยให้ระบบการศึกษาของอาเซียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของภูมิภาคให้สามารถแข่งขันในภูมิภาคอื่น ๆ ได้
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก รอบที่ 4 ของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2559-2563 ว่าเป็นการประเมินรอบสำคัญ เพราะการประเมินในช่วงที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งต้องมีปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนานาประเทศ ทั้งในด้านของ สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา รวมถึงคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยในการประเมินรอบที่ 4 นี้ มีสถานศึกษาที่ต้องประเมินรวมกันทั้งสิ้น 58,622 แห่ง และมีผู้ประเมินรวมกันทั้งหมดกว่า 3,000 คน ทาง สมศ.ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนามาตรฐานผู้ประเมินเป็นอย่างมาก จึงต้องคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยฝึกอบรมเพื่อรับรองบุคคลที่มีคุณธรรมและความรู้ ความสามารถมาเป็นผู้ประเมินภายนอก เพื่อที่จะสามารถสะท้อนคุณภาพและความเป็นจริงของระบบการศึกษาไทย สมศ. จึงได้กำหนดจรรยาบรรณสำหรับผู้ประเมิน 7 ข้อ โดยปรับข้อกำหนดให้สอดคล้องตาม 4 หลักการของ AQAF ภายใต้กรอบประกันคุณภาพการศึกษาอาเซียน 10 ชาติ ดังนี้
1) ผู้ประเมินจะต้องดำเนินการประเมินด้วยตนเองเท่านั้น
2)มีความเที่ยงตรงต้องรายงานสิ่งที่ค้นพบตามความเป็นจริงอย่างชัดเจน และต้องไม่รายงานเท็จ หรือรายงานโดยปกปิดข้อความที่ต้องควรแจ้ง
3)ต้องไม่ประพฤติให้เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของตนและ สมศ.
4) รักษาความลับของข้อมูลสารสนเทศส่วนบุคคลและสถานศึกษาที่ได้รับระหว่างการตรวจเยี่ยมและการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างเคร่งครัด
5) ไม่รับและไม่เรียกร้องในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา เช่นไม่รับสินบนรางวัล ของขวัญ ของกำนัล การต้อนรับและรับรอง
6) ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ประเมิน หรือหน่วยประเมิน
7) ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตามมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกที่ สมศ. กำหนด
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th