กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--กระทรวงแรงงาน
ก.แรงงานเปิดผลงาน ๖ เดือน สร้างงานร่วม ๓ แสน คาดเงินถึงแรงงานร่วมแสนล้านบาท สางปัญหาแรงงานต่างด้าวร่วมแก้ค้ามนุษย์ พัฒนาฝีมือแรงงานไทยได้มาตรฐานลดความสูญเสียกว่า ๑,๖๐๐ ล้าน ชูความปลอดภัยที่ทำงาน ทำกองทุนเงินทดแทนมั่นคง ปฏิรูปประกันสังคมโปร่งใส บริหารแบบมืออาชีพทำผู้ประกันตนพอใจ เดินหน้าอีก ๖ เดือนดันแรงงานไทยมั่งคั่ง ทุกชาติมั่นคงอย่างยั่งยืน
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานแถลงผลงานของกระทรวงรอบ ๖ เดือนที่ผ่านมาโดยกล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยแถลงต่อสภาฯ มีนโยบายให้กระทรวงแรงงานดูแลประชาชนคนไทยให้มีรายได้ที่มั่นคงจากการทำงาน ดูแลแรงงานต่างด้าว ลดปัญหาค้ามนุษย์ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และคุ้มครองแรงงานทุกคน กระทรวงแรงงานจึงได้เร่งรัดตอบสนองนโยบายของรัฐบาลทำให้เกิดการจ้างงานกับคนไทยเพิ่มขึ้น จำนวน ๒๒๔,๕๘๗ คน และจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ จำนวน ๔๕,๐๘๗ คน คาดเงินถึงมือประชาชน พี่น้องแรงงานร่วมแสนล้านบาทโดยแบ่งเป็นเงินที่สะพัดจากแรงงานไทยทำงานต่างประเทศส่งมายังครอบครัวปีละกว่า ๗ หมื่นล้านบาท และเงินที่เกิดจากการสร้างงานใหม่อีกกว่า ๓ หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายและการใช้เทคโนโลยีของศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยหรือ Smart Job Center เชื่อมโยงระบบออนไลน์จัดหางานจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัดของประเทศ
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้พยายามเข้าถึงทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยทุกคนมีงานทำ ทักษะดี รายได้ดี มีสุข มีหลักประกันมั่นคง ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการร่วมมือกับผู้ประกอบการกว่า ๒๐ บริษัทจ้างงานผู้พิการทำงานในชุมชนโดยไม่ต้องลำบากในการเดินทางไปยังสถานประกอบการของนายจ้างทำให้เกิดการจ้างงานผู้พิการทันทีกว่า ๒๐๐ คนกับพื้นที่จังหวัดต่างๆ อีกรวมกว่า ๓๐๐ คนโดยทำงานด้านการศึกษา การณรงค์เมาไม่ขับ ทำงานด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วิสาหกิจชุมชนและความปลอดภัยด้วยการทำงานร่วมกัน เปลี่ยนภาระเป็นพลัง กับ สสส. มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม องค์กรภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศ คาดเฉพาะการสร้างงานผู้พิการเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเงินถึงมือครอบครัวผู้พิการกว่า ๓๐ ล้านบาทในปีนี้
“ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กระทรวงแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการกับกระทรวงต่างๆ ในหลายภารกิจ เช่น การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ปัญหาการประมง IUU และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานจึงใช้หลักความพอเหมาะต่อความมั่นคง พอเพียงต่อเศรษฐกิจ และพอดีต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้เกิดผลงานร่วมแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เช่น กฏกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.๒๕๕๗ มีการบังคับใช้กฎหมายออกตรวจเรือประมงกว่า ๖๐๐ ลำ พบเรือที่ไม่ถูกต้องกว่า ๕๐ ลำ มีการดำเนินคดีแรงงานเด็กที่ใช้เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีในงานประมง การออกคำสั่งให้มีสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้างและสิทธิอื่นๆ ป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายผ่านระบบ MOU และนำแรงงานต่างด้าวที่ทำงานไม่ถูกกฎหมายขึ้นมาให้ถูกกฎหมายอยู่ในการควบคุมดูแลกว่า ๑.๖ ล้านคน มีการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายของไทยทุกประการ สามารถนำไปเป็นข้อมูลตอบโจทย์ของ TIP Report กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ และสู่ความเป็นมาตรฐานสากล” รมว.แรงงานกล่าว
รมว.แรงงาน ยังได้กล่าวถึงผลงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานว่า โลกในอนาคต แรงงานคือ สิ่งที่มีคุณค่าของทุกประเทศ ในโลกนี้จะมีการแข่งขันสูงมาก ประเทศใดมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ามีพลังมากกว่ากันย่อมได้เปรียบในทุกสถานการณ์ กรมพัฒนาฝีมือฯ จึงได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาต่างๆ เตรียมแรงงานไทยรองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในหลายมิติ เช่น เพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงานไทยในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนด้านยานยนต์ ภาคบริการและท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงและรองรับเขตเศรษฐกิจชายแดน จำนวน ๖๖,๓๖๙ คน และพัฒนาด้านภาษาอังกฤษจำนวน ๑๔,๕๔๙ คน และผลจากการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มขีดความสามารถด้านแรงงานคาดทำให้ลดการสูญเสียในการประกอบการอุตสาหกรรมได้กว่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท
“ในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้เน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนและส่งเสริมด้านแรงงานสัมพันธ์โดยมีผลงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เห็นชัดเจนคือจำนวนแรงงานที่เกิดอุบัติเหตุจนสูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันคือ เดือน กันยายน ถึง เมษายน ของ ๒ ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้สูญเสียอวัยวะลดลงจาก ๒,๔๓๖ คน เหลือ ๕๐๘ คน และทุพพลภาพลดลงจาก ๓๔ เหลือ ๔ คน ทำให้การใช้กองทุนเงินทดแทนที่เดิมต้องจ่ายเงินไปกว่า ๓๖๐ ล้านบาทในปีก่อนนี้แต่ปีนี้จ่ายเพียง ๖๐ ล้านบาท เพราะการรณรงค์ความปลอดภัยในการทำงานได้ผลทำให้รักษาผลประโยชน์ของกองทุนเงินทดแทนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การทำงานในมิติของแรงงงานสัมพันธ์ได้ใช้นโยบาย ลูกจ้าง นายจ้าง เอื้ออาทร ร่วมแบ่งปันสร้างสรรค์สังคมไทย การหยุดงานไม่มีและการนัดหยุดงานลดลงในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นเน้นให้แก้ไขปัญหาให้จบกันภายในสถานประกอบการเป็นหลัก” รมว.แรงงาน กล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า สำนักงานประกันสังคมกำลังออกกฎหมายลูกจำนวน ๑๗ ฉบับรองรับ พรบ.ประกันสังคมที่เน้นเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน เช่น ขยายความคุ้มครองลูกจ้างทุกประเภทของราชการ มีค่าส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริการทางการแพทย์ กรณีคลอดบุตร มีสิทธิได้รับเงินไม่จำกัดจำนวนครั้ง และค่าเลี้ยงดูบุตรอายุ ๐ ถึง ๖ ปีได้คราวละไม่เกิน ๓ คน เดิมได้เพียง ๒ คนเท่านั้น เป็นต้น โดยล่าสุดมีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ประกันตนและนายจ้างผ่านโพลสำนักต่างๆ พบว่า โดยรวมคะแนนความพอใจต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ ๘๔.๔ และพอใจต่อสถานพยาบาลอยู่ที่ร้อยละ ๗๒.๒ ความพอใจต่อนายจ้างโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ ๗๙.๑ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างพอใจต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานประกันสังคมอยู่ที่ ร้อยละ ๖๘.๒ ซึ่งในอีก ๖ เดือนข้างหน้าต้องเร่งวิเคราะห์จิต พิชิตใจ เข้าถึงทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมายทั้งผู้ประกันตน นายจ้างและภาครัฐที่จะขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปประกันสังคมตามนโยบาย โปร่งใส ตรวจสอบได้ บริหารแบบมืออาชีพ และทุกภาคส่วนพอใจ
รมว.แรงงาน ได้กล่าวถึงอีก ๖ เดือนข้างหน้าจะมุ่งทำภารกิจต่อเนื่องโดย ๑) ทำให้ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย หรือ Smart Job Center ยังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งเตรียมคนทำงานให้มีคุณภาพ จับคู่ความต้องการสู่การจ้างงาน และกลุ่มอาชีพอิสระรับงานไปทำที่บ้าน ๒) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นต้นแบบของมาตรฐานแห่งชาติและมาตรฐานสากล ลดความสูญเสียและเพิ่มขีดความสามารถด้านแรงงานหรือ ผลิตภาพแรงงาน ๓) การตรวจคุ้มครองแรงงาน ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ ลูกจ้าง นายจ้าง เอื้ออาทรร่วมแบ่งปันสร้างสรรค์สังคมไทย และความปลอดภัยลดอุบัติเหตุในการทำงาน ๔) การเสริมสร้าง ความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ บริหารแบบมืออาชีพ สร้างความพอใจผู้ประกันตนและนายจ้างในระบบของสำนักงานประกันสังคม ๕) การคุ้มครองแรงงานดูแลสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแรงงานไทย เช่น กรณีแรงงานประมงกลับจากอินโดนีเซีย ล่าสุดมีจำนวน ๑๓๒ รายและได้ช่วยดำเนินการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แล้วกว่า ๓ ล้านบาทสำหรับแรงงานกลุ่มนี้
ส่วนแผนปฏิบัติภารกิจในอีก ๖ เดือนภารกิจที่จะทำเพิ่ม ได้แก่ ๑) ทำแอพพิลเคชั่นใช้หางาน สมัครงาน จับคู่ความต้องการระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้อย่างรวดเร็วลดความเดือดร้อนของประชาชนในค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการสมัครงาน เปิดสายด่วน ๑๖๙๔ ให้ประชาชนและระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ “มองหางาน ต้องการคน” ไว้รองรับความต้องการของนายจ้างและลูกจ้างให้ครอบคลุมมากขึ้น ๒) ทำแอพพิลเคชั่นตลาดงานตลาดเงินดิจิตอล (Digital Marketing) ทำให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสหางานหารายได้ผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค เปิดห้องไลน์ เฟซบุค ทวิตเตอร์ ลิงค์เกดอิน (Linkedin) และเว็บ mol.womenwill.go.th เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนยุคใหม่เข้าถึงบริการของทุกกรมของกระทรวงแรงงานผ่านสังคมออนไลน์ มาหางาน รับงานไปทำที่บ้าน สมัครงาน ขยายช่องทางหารายได้จากการทำงานมากขึ้น
๓) ปรับปรุงกฎระเบียบการเข้าถึงแหล่งทุนของกองทุนรับงานไปทำที่บ้านได้ง่ายขึ้นขณะนี้มีวงเงินอยู่กว่า ๒๐ ล้านบาทแต่จะขอเพิ่มได้อีกหากมีความต้องการและใช้กองทุนนี้ให้เกิดประโยชน์แท้จริงต่อประชาชน ซึ่งกฎระเบียบเดิมประชาชนต้องรวมตัวกัน ๕ คนขึ้นไป แก้กฎใหม่เป็นคนเดียวหรือรวมตัวกันก็สมัครขอใช้เงินกองทุนรับงานไปทำที่บ้านได้ คาดว่าอีกไม่เกิน ๓ เดือนข้างหน้าจะเปิดให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สนใจแจ้งความจำนงได้ที่สายด่วน ๑๖๙๔ ในเวลาราชการ ๔) ศึกษาแนวทางการปฏิรูปภารกิจสำคัญของกระทรวงแรงงานด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการแรงงานด้วยกรมต่างๆ ของกระทรวงจะเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ ระเบียบ กำกับดูแล หรือเป็น Regulator ในขณะที่มีองค์กรต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพในด้านนั้นมาเป็นผู้ปฏิบัติหรือ เป็น Operator ตอบสนองนโยบายของกระทรวง โดยเริ่มศึกษาความเป็นไปได้กับภารกิจของ กรมการจัดหางาน และ สำนักงานประกันสังคม” รมว.แรงงาน กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีหลายภารกิจของกระทรวงแรงงานที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน จึงเห็นได้ว่า การทำงานของกระทรวงแรงงานช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตหลายอย่างตามที่กล่าวข้างต้น กระทรวงแรงงานจึงมีแผนเปิดตัว Labor Poll ภายใต้ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยหรือ Smart Job Center เป็นช่องทางหาข้อมูลเกาะติดความต้องการของประชาชนคนวัยทำงานทุกกลุ่มมาพิจารณาประกอบการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงที่ตอบโจทย์ความต้องการแท้จริง โดยจะเริ่มทำสำรวจความสุขของประชาชนคนวัยทำงานกลุ่มต่างๆ ทุกจังหวัดของประเทศ วัดระดับความสุขของแรงงานในแต่ละจังหวัด หาปัจจัยที่ทำให้แรงงานมีความสุข จะได้นำมากำหนดภารกิจเพิ่มความสุขของผู้ใช้แรงงานให้มากยิ่งขึ้น
“ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อนคนไทยหรือ Smart Job Center จะเปิดพื้นที่จัดเวทีทำกิจกรรมของกรมต่างๆ ของกระทรวงเป็นประจำรายสัปดาห์หรือรายเดือน เช่น การทำ MOU กับสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จัดหลักสูตรเตรียมความพร้อมของคนทุกกลุ่ม อาทิ ผู้พิการ คนพื้นที่สูง ผู้พ้นโทษเรือนจำ ผู้สูงวัย และคนวัยทำงานทั่วไป เข้าสู่การจ้างงานและแรงงานนอกระบบอาชีพอิสระรับงานไปทำที่บ้านด้วยรายได้ดีมีตลาดรองรับ และกระทรวงแรงงานยังให้ความสำคัญต่อการทำงานร่วมกันทั้งการเชื่อมประสานกับสถาบันและองค์กรต่างๆ ภายนอก เช่น องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น (IOM) และกลุ่ม NGO ต่างๆ โดยจะมีการทำงานลงพื้นที่เข้าถึงแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวอย่างใกล้ชิด ล่าสุด มีการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMTV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ในการบริหารจัดการแรงงานต่างสัญชาติหรือต่างด้าว วางแผนร่วมกันทั้งการจ้างงาน การพัฒนาแรงงาน และการทำงานด้านวิชาการแรงงานนานาประเทศ โดยในอีก ๖ เดือนข้างหน้ามุ่งสู่การทำให้แรงงานไทยมั่งคั่ง ทุกชาติมั่นคง อย่างยั่งยืน” รมว.แรงงาน กล่าว
คณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โทร. ๐๘๖-๐๗๑-๖๕๖๕