กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--รพ.ปิยะเวท
ฟันผุกับเด็กๆ คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากไปเสียแล้ว เพราะในสังคมปัจจุบัน ยุคที่เต็มไปด้วยอาหารการกิน ขนม นม เนย ที่มีรสหวานและมีน้ำตาลในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคฟันผุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ฟันผุเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยเสียทีเดียว หากผู้ปกครองใส่ใจและหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของลูกน้อยอย่างถูกวิธี
ทพ.ธนา จูระมงคล ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม รพ.ปิยะเวท “ผู้ปกครองหลายคนคงมีคำถามว่า ควรพาลูกไปพบหมอฟันตอนอายุเท่าไหร่ดี สำหรับเรื่องนี้แพทย์แนะนำว่าควรพาลูกมาพบหมอฟันตั้งแต่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นซี่แรก เพื่อให้ทันตแพทย์ได้แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันที่ถูกต้องให้แก่คุณพ่อคุณแม่ในการดูแลลูกน้อย อีกทั้งยังทำให้เด็กๆ คุ้นเคยกับบรรยากาศของห้องทำฟัน หมอฟัน ซึ่งจะลดอาการกลัวหรือวิตกกังวลเมื่อเด็กๆ เข้าสู่วัยที่จะต้องทำฟัน สำหรับการพบหมอฟันครั้งแรกของเด็กนั้น ทันตแพทย์จะตรวจประเมินสุขภาพช่องปากและฟันรวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ ตามระยะเวลาต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองควรพาเด็กๆ มาพบทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ สำหรับฟันน้ำนมของเด็กจะเกิดขึ้นซี่แรกในช่วงอายุประมาณ 6 เดือน และจะทยอยขึ้นเรื่อยๆ จนครบ 20 ซี่ ในช่วงอายุประมาณ 2-3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เด็กๆ ยังไม่สามารถดูแลสุขภาพปากและฟันได้ด้วยตัวเอง ผู้ปกครองจึงมีหน้าที่ดูแลทั้งเรื่องอาหารการกินและความสะอาดของปากและฟันอย่างดีที่สุด โดยหลีกเลี่ยงให้ลูกดื่มเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานจัดหรือนม น้ำผลไม้ ที่ใส่น้ำตาลในปริมาณมากๆ เมื่อเด็กเข้าสู่วัย 1 ปีครึ่ง อาจเริ่มสอนให้เด็กๆ แปรงฟันโดยใช้แปรงขนนิ่มสำหรับเด็ก ในการทำความสะอาดฟันวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและก่อนนอน และฟันน้ำนมในเด็กจะเริ่มทยอยหลุดในช่วงอายุ 6 -12 ปี จนครบทั้ง 20 ซี่ ในช่วงนี้หากเด็กมีอาการฟันน้ำนมผุแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้การติดเชื้อลุกลาม เกิดถุงหนองที่ปลายรากฟันหรือบวมบริเวณแก้มและคาง ซึ่งเป็นอันตรายมาก การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนที่ฟันแท้จะขึ้น มีผลให้ฟันแท้ขึ้นไม่ตรงตำแหน่ง และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมีโอกาสที่จะมีฟันแท้ผุมากกว่าเด็กที่ไม่มีฟันน้ำนมผุด้วย และเมื่อเด็กอายุ 3-4 ปี ทันตแพทย์แนะนำให้เคลือบฟลูออไรด์ที่ผิวฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งในปริมาณที่ถูกต้องและเหมาะสมกับอายุ เพื่อป้องกันฟันผุและเพื่อสุขภาพฟันที่แข็งแรง ทั้งนี้การเคลือบฟลูออไรด์สามารถทำได้ทั้งในฟันแท้และฟันน้ำนม หรือถ้าหากพบปัญหาฟันซ้อน ฟันเก ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมินดูว่าควรจัดฟันร่วมด้วยหรือไม่”
เพราะการมีสุขภาพฟันที่ดีควรเริ่มตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก ทุกคนสามารถมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีได้ตลอดชีวิต หากรู้จักวิธีดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม ผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญในการที่ลูกน้อยจะมีสุขภาพฟันที่ดี โรคฟันผุไม่ใช่กรรมพันธุ์แต่เป็นการติดเชื้อ ซึ่งสามารถป้องกันได้ ปิดเทอมนี้ตอนที่เด็กๆ ว่างจากการเรียน คุณพ่อคุณแม่ลองสละเวลาเพียงเล็กน้อย พาลูกของคุณไปตรวจสุขภาพฟัน เพื่อฟันที่แข็งแรงและอนามัยช่องปากที่ดีของลูกน้อย