แถลงการณ์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องสหภาพยุโรปออกใบเหลืองกรณีที่ประเทศไทยขาดมาตราการที่เพียงพอในการต่อสู้กับการประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU)

ข่าวทั่วไป Monday April 27, 2015 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเรื่องการขาดมาตรการที่เพียงพอในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU) และให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา การประกาศของสหภาพยุโรปเป็นผลมาจากความล้มเหลวของประเทศไทยต่อการจัดการและต่อกรกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ทำลายล้างและไม่ยั่งยืน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “การออกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ย้ำเตือนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องแผนปฏิบัติการเพื่อยุติการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจคิดเป็นเงินราว 659 พันล้านบาท (1) จากการทำประมงที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการที่ประเทศไทยล้มเหลวในการฟื้นฟูทะเลและปกป้องมหาสมุทรจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ จากการเตือนของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปครั้งก่อน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการโดยการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน และออกใบอนุญาตให้แก่เรืออวนลากเถื่อน ทั้งๆที่เรืออวนลากเป็นการทำประมงที่ทำลายล้าง กวาดล้างปลาและพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยและทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพาระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก กรมประมงควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสและยึดถือการพัฒนาที่ยั่งยืนการจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงและชุมชนชายฝั่งทะเลในการวางแผนและการตัดสินใจเพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์” กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. ยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างรวมถึงอวนลาก อวนรุน ซึ่งทำลายแหล่งปลาและระบบนิเวศของทะเลไทย 2. ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายประมงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบและยกระดับธรรมาภิบาลด้านการประมงในอันที่จะต่อกรกับการทำประมงเกินขนาดที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทร 3. สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการควบคุม ติดตามตรวจสอบ รวมถึงการประสานงานเชิงนโยบายและการจัดการประมงในระดับภูมิภาคเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ของการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การขนถ่ายสินค้าจากการประมงนอกน่านน้ำกลางมหาสมุทร เป็นต้น หมายเหตุ : (1) http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-4806_en.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ