กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--Migrant working group
ระบุเจ้าหน้ารัฐไม่เข้าใจกระบวนการแก้ปัญหา ยกกรณีร้อนกวาดจับแรงงานเด็กที่ตลาดไทละเมิดสิทธิเด็ก ด้านสภาทนายความระบุควรเร่งออกกฏกระทรวงมาตรา 7 เพื่อรับรองสถานะให้ถูกกฎหมาย ขณะที่เอ็นจีโอเผยแรงงานตกเรือยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ให้เป็นระบบ
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรทีทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ฤา จะหนีไม่พ้นวังวนการค้ามนุษย์?” จับตานับถอยหลังสถานการณ์การขึ้นบัญชีการค้ามนุษย์ในประเทศไทย พร้อมแนวทางการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน”
น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group)กล่าวว่า ประเทศไทยมีมาตรการออกมาเพื่อปกป้องและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎกระทรวงแรงงานประมง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน การแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การตั้งคณะกรรมการระหว่างหน่วยงาน ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยดีขึ้น
โดยในรอบปีนี้มีหลากหลายสถานการณ์ ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ถูกจุด แบ่งเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้ 1.กรณีเหตุการณ์แรงงานตกเรือที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย 2.กรณีการพยายามแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าในประเทศไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ส่วนเด็กที่เห็นในสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในภาคเกษตรภาคอาหารทะเลแช่แข็ง หรืออาหารประมง เป็นเด็กที่ตามผู้ปกครองมาช่วยทำงานในสถานประกอบการ และถึงแม้รัฐบาลไทยจะออกมากล่าวอ้างในลักษณะดังกล่าวแต่นานาประเทศกลับไม่เชื่อและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานเด็กให้ได้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ว่าถ้าไม่มีเด็กข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยก็เท่ากับว่าไม่มีแรงงานเด็กซึ่งเป็นแนวความคิดและกระบวนการแก้ปัญหาที่ผิดมาก
นอกจากนี้อีกเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าประเทศไทย ไม่เข้าใจว่าจะรับมือกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างไร ก็คือเหตุการณ์กวาดจับบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่ตลาดไท รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมโดยไม่สนใจว่าเด็กจะมีเอกสารของการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในวันนั้นมีเด็กถูกจับสิ้น 59 คน โดยเป็นเด็กจากประเทศพม่าและประเทศกัมพูชา สิ่งที่ตนอยากตั้งข้อสังเกตในการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้ คือ ตำรวจไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กทั้งหมดที่ถูกจับมีอายุเท่าไหร่ มีเอกสารอะไรบ้าง เพราะจริงๆ ตามหลักกฎหมายหากพ่อแม่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ลูกที่เกิดในประเทศไทยในช่วงนี้ย่อมได้สิทธิที่อยู่อาศัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดรถส่งเด็กไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด โดยตามหลักการทางกฎหมายแล้ว การจับกุม ผลักดันเด็ก จะต้องมีพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย เพราะหากเราผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้ออกนอกประเทศไปในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายโดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองติดตาม เราจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าหากเด็กกลับไปยังประเทศต้นทางแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งเรื่องการพลัดพรากและไม่รู้ว่าจะเจอกันได้อย่างไร
สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมเด็กคือ 1.เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรู้ความเข้าใจมากแค่ไหนว่าเด็กคนไหนที่เข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมาย และมีเอกสารในการบันทึกหลักฐานการจับกุมไว้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการประสานงานไปยังตม.แม่สอด เราพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้บันทึกการจับกุม มีเพียงแต่บันทึกข้อความที่ออกจาก สภ.คลองหลวง แนบไปเท่านั้น และความผิดปกติอีกอย่างหนึ่งคือ ชุดการจับกุมของ สภ.คลองหลวง ไม่ได้มีการประสานงานกับสำนักตรวจคนเข้าเมือง ปทุมธานี ในการผลักดันส่งกลับ แต่เป็นการจัดหารถนำพาเด็กไป ซึ่งตรงนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับท้องที่ มีความรู้ความเข้าใจในการจับกุมมากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้มีมติครม.และกฎกระทรวงแรงงานขอความร่วมมือในการผ่อนผัน เพราะยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และได้มีการขยายเวลาในการพิสูจน์สัญชาติไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2557 และให้ไปรายงานตัวที่ศูนย์ one stop service ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ จึงเท่ากับว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ จึงทำให้สงสัยได้ว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ และคิดถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศหรือไม่
ทั้งนี้ตัวเลขประมาณการณ์ของเด็กที่ถูกสำรวจไว้โดยสำนักงานสถิติ พ.ศ.2550 มีเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 300,000 คน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนตัวเลขของเด็กที่มาขึ้นทะเบียนว่าเป็นผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติเพียง 90,000 คนจากจำนวนตัวเลขทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่ามีเด็กกว่าร้อยละ 70 ที่เข้าไม่ถึงระบบการทำเอกสาร เพื่อให้มีสิทธิในการอยู่อาศัยถูกต้องในประเทศไทย
ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า จากกรณีการจับกุมแรงงานข้ามชาติเด็กที่ตลาดไท ตนคิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งถูกท้วงติงมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งสิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปจับกุมแรงงานเด็กนั้น ตรงตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการหรือไม่อย่างไร เพราะตนเข้าใจว่านโยบายของรัฐบาลต้องการให้เกิดความคุ้มครอง แต่เจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมกลับทำให้เด็กตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดแทนการได้รับความคุ้มครอง และทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมไม่เข้าใจในกระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งวิธีปฏิบัติสากลที่ถูกต้องแล้ว เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี และเด็กทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะถูกยัดเยียดข้อหาให้เป็นคนกระทำความผิดไม่ได้ นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตม.ไม่มีอำนาจในการส่งเด็กกลับ หากเด็กเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิด เพราะเด็กที่ถูกจับเป็นเด็กที่ติดตามพ่อแม่ ไม่ใช่อาชญากร
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองเด็กระบุอย่างชัดเจนว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย จะมีสิทธิอยู่กับครอบครัว การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเป็นการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นคดีที่จะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการจับกุมได้ และแทนที่ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องกลับจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์แย่ลงกว่าเดิม และจะหนีไม่พ้นถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ให้ต่ำลงอีก ดังนั้นตนจึงมีข้อเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกต้องและเป็นรูปธรรมดังนี้ 1. รัฐต้องเลิกจับกุมเด็กและหันมาใช้วิธีการคุ้มครองเด็กแทนเพราะเด็กไม่ใช่อาชญากร 2. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรเข้าไปจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กมาดูแลเด็กโดยเฉพาะในพื้นที่มีเด็กเป็นจำนวนมาก 3. สนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนกาค้ามนุษย์ 4. ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยเด็กจะต้องได้อยู่กับครอบครัว 5.เร่งรณรงค์ให้ทุกฝ่ายทราบว่าเด็กที่เกิดในประเทศไทยสามารถอยู่ใรประเทศไทยได้ตามมติครม. 6. รัฐต้องทำบัตรบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้กับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบสถานะเด็ก 7.รัฐควรเร่งออกกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ทวิวรรค 3 ของพระราชบัญญัติสัญชาติแก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายมาแล้ว 7 ปี แต่ยังไม่มีกฎกระทรวงออกตามมา จึงทำให้ปัญหาเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งกฎกระทรวงนี้จะสามารถแก้ปัญหาได้
ขณะที่ นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ในส่วนประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคธุรกิจประมงนั้น ภายหลังจากที่ประเทศอินโดนีเซียมีมาตรการทางกฎหมายมารองรับการตรวจสอบ จับกุมลูกเรือประมงที่ทำผิดกฎหมาย และให้หยุดเดินเรือ ทำให้มีลูกเรือทั้งชาวไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณเกือบ 4 พันคนโดยแบ่งเป็นคนไทยประมาณ 2 พันคน พม่ากัมพูชาและลาวประมาณ 2 พันคนโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอทางการอินโดนีเซียตรวจสอบ ซึ่งในแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่เรียกว่าเป็นคนตกเรือ ที่มีอยู่ 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มคนที่รับจ้างรายวันทำงานทั่วไปโดยไม่มีเจ้านายและไม่มีเอกสารทางกฎหมาย หรือที่เรียกว่าคนผี 2. กลุ่มคนที่ตกเรือมานานก่อนที่ประเทศอินโดนีเซียจะประกาศให้เรือทุกชนิดหยุดเดินเรือ และ 3. กลุ่มที่ทำงานอยู่บนเรือและบนฝั่งสลับกันไปมา ซึ่ง LPN ได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ตกเรือกลุ่มนี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่ 2 แต่ขณะนี้มีปัญหาของการเข้าไปช่วยเหลือคือเราไม่รู้จำนวนคนที่ประสงค์อยากกลับบ้านว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพราะแรงงานบางกลุ่มก็ยังอยากอยู่ทำงานต่อ ดังนั้นจึงต้องรอดูสถานการณ์ในวันที่ 30 เม.ย.ที่จะถึงนี้ว่าทางการอินโดนีเซียจะดำเนินการในรูปแบบไหนต่อไป
นอกจากนี้เรื่องนี้ยังมีหลายมิติ โดยมีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเกี่ยวข้อง เพราะผู้ประกอบการบางส่วนยังซื้อเวลาด้วยการไม่ให้แรงงานมารายงานตัวที่ศูนย์ One stop service ของไทย เพื่อรอดูท่าทีของทางการอินโดเซีย เพราะหากทางการอินโดนีเซียอนุญาตให้ออกเรือต่อได้ก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจที่ไม่ต้องไปหาแรงงานใหม่ และในอีกมิติหากรัฐบาลอินโดเซียขยายมาตรการหยุดเดินเรือต่ออีก 6 เดือน เชื่อว่าจะมีหลายภาคส่วนที่เดือดร้อนทั้งภาคผู้ประกอบการและแรงงาน
ทั้งนี้ในส่วนของแรงงานที่อยากกลับบ้านจริงๆที่กลุ่ม LPN ได้เข้าให้การช่วยเหลือนั้นมีตัวเลขประมาณ 500 คน แต่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียง 100 คน ซึ่งจะต้องร่วมกันหามาตรการว่าจะทำอย่างไรต่อไปให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามในส่วนของภาครัฐของไทยและอินโดนีเซียควรมีการหารือกันเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานการจัดการระบบแรงงานให้ดีขึ้น และควรมีมาตรการที่สามารถตรวจสอบได้ว่าการจดทะเบียนแรงงานถูกต้องหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแรงานที่ได้รับการช่วยเหลือมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งเป้าแต่จะแก้ปัญหาไปที่การค้ามนุษย์อย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงยังมีแรงงานอีกหลายส่วนที่ตกหล่นไม่ว่าจะเป็นแรงงานเด็ก และแรงงานที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาส ดังนั้นจึงต้องมีการรื้อกระบวนการแก้ไขปัญหาใหม่ทั้งหมด จึงอยากเสนอให้รัฐรื้อกฎกระทรวงว่าด้วยคนทำงานชายฝั่งให้ได้รับการจ้างงานอย่างเป็นธรรม