กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.53เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่56.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการอยู่ ณ. สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย.58 มีจำนวนลดลงมาอยู่ที่ 703 แท่น (ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 31 แท่น และลดลงจากปีก่อน 831 แท่น) ต่ำสุดตั้งแต่ปี2553
- บริษัท Schlumberger ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีและจำหน่ายอุปกรณ์การขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ของโลกประกาศลด Capital Spending เพิ่มเติม และลดจำนวนพนักงานอีก 11,000 ตำแหน่งในปีนี้ ทำให้จำนวนพนักงานที่จะเลิกจ้างงานปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ราย หรือ 15% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
- ซาอุดิอาระเบีย ยังคงโจมตีกลุ่มติดอาวุธ Houthi ในประเทศเยเมนทางอากาศอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการประกาศยุติการโจมตีและจะหันมาดำเนินการทางการทูตในวันที่ 21 เม.ย. 58 กอปรกับ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt บุกสกัดทำให้เรือขนสินค้าของอิหร่านต้องเปลี่ยนเส้นทางจากที่กำลังเดินทางเข้าสู่เยเมนส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
- Oil Movements บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานของอังกฤษรายงานกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ไม่รวมแองโกลาและเอกวาดอร์ คาดการณ์ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบเฉลี่ย 4 สัปดาห์สิ้นสุด 9 พ.ค. 58 ลดลง 170,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 23.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองเงินของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio หรือRRR) ลง 1% มาอยู่ที่ 18.05% เป็นการลดครั้งที่ 2 ของปี (วันที่ 4 ก.พ. 58 ปรับลดลง 0.5% ) และเป็นครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 51 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน หลังอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีนต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ที่ผ่านมา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.32 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 489.0 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นสูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดไว้เกือบ 2 เท่า
- Reuters รายงานท่าส่งออก Hariga (ปริมาณการสูบถ่ายน้ำมันวันละ140,000 บาร์เรลต่อวัน) ทางตะวันออกและท่า Zueitina (ปริมาณการสูบถ่ายน้ำมันวันละ 70,000 บาร์เรลต่อวัน) ในลิเบีย กลับมาเริ่มดำเนินการได้อีกครั้งหลังจากหน่วยรักษาความปลอดภัยยุติการประท้วงเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียล่าสุดอยู่ที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน
- Conference Board รายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. 58 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดโดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ก.พ. 58
- ZEW รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Investor Confidence) ของเยอรมนี เดือน เม.ย. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 1.5 จุด มาอยู่ที่ระดับ 53.3 จุด บ่งชี้เศรษฐกิจใหญ่ของยุโรปได้รับผลกระทบจากหนี้เสียของกรีซ
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ตลาดน้ำมันดิบปิดตัวผันผวนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยน้ำมันดิบ ICE Brent ราคาเพิ่มขึ้น จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ในเยเมนที่สถานการณ์ยังคงตึงเครียด ขณะที่น้ำมันดิบ NYMEX WTI ราคาปรับลดลง เนื่องจากผู้ค้ามีความกังวลต่อปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ Cushing ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 78% ของความสามารถในการกักเก็บที่ประมาณ 80 ล้านบาร์เรล และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเต็มในช่วงเดือน พ.ค. 58 หลังบริษัท Sunoco Logistics Partners LP เผยแผนปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมัน West Texan Gulf (300,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Mid Valley (280,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเป็นท่อน้ำมันสำคัญที่ช่วยในการขนส่งน้ำมันจากแหล่ง Permian Basin ไปยังโรงกลั่นบริเวณ Gulf Coast ส่งผลให้น้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวต้องถูกส่งไปที่ Cushing ก่อนที่จะกระจายไปให้โรงกลั่นต่างๆ อนึ่ง Permian Basin เป็นแหล่งผลิต Shale Oil ที่มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นเร็วที่สุด และปัจจุบันผลิตประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ ให้จับตามองการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. 58 ที่อาจไม่มีนโยบายการใช้มาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณเพิ่มขึ้น และปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณนี้ที่เคยตั้งไว้ที่ 2% ต่อปี ซึ่งอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง และเป็นแรงสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63-67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 55-59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากความต้องการน้ำมันเบนซินในตลาดแข็งแกร่ง อาทิ Pakistan State Oil ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 87 RON ปริมาณ 3.4 ล้านบาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค.58 และ Petroleum Importation Coordinator (PIC) จากแทนซาเนีย ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 93 RON ปริมาณรวม 980,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึง ต้นเดือน มิ.ย. 58 ขณะที่ Kenya Pipeline Co-ordination Secretariat เผยเคนยามีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซิน 93 RON ปริมาณรวม 1.65 ล้านบาร์เรล จำนวน 5 เที่ยวเรือ ส่งมอบระหว่างเดือน พ.ค. - มิ.ย. 58 มากกว่าการซื้อครั้งที่แล้วประมาณ 255,000 บาร์เรล และ Sonatrach Petroleum จากอัลจีเรีย ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 95 RON จำนวน 6 เที่ยวเรือ ปริมาณรวม 1.53 ล้านบาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน พ.ค. 58 อย่างไรก็ตาม Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 10.82 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงค์โปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 940,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.52 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และจากสหภาพแรงงาน General Confederation of Labour (CGT) จากฝรั่งเศสเข้าปิดโรงกลั่น La Mede (กำลังการกลั่น 153,000 บาร์เรลต่อวัน)ของบริษัท Total หลังจาก Total มีแผนที่จะเปลี่ยนโรงกลั่นดังกล่าวเป็นโรงกลั่น Bio-diesel โดยผู้ประท้วงไม่ยอมให้น้ำมันสำเร็จรูปออกจากโรงกลั่น และ PIC ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.005%S ปริมาณรวมกว่า 1.48 ล้านบาร์เรล ส่งมอบช่วง 28-30 พ.ค. 58 และ 16-18 มิ.ย. 58 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงค์โปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย. 58 ลดลง 510,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.26 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นRuwais (กำลังการกลั่น 840,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Abu Dhabi National Oil Co. (ADNOC) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแผนเริ่มเดินเครื่องหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker (RFCC) และ Hydrocracker ปลาย เม.ย. 58 นี้ ขณะที่ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9.2% มาอยู่ที่ระดับ 10.24 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000บาร์เรล อยู่ที่ 19.88 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล