กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนของประเทศไทย สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศให้ปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีทดแทนที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกน้อยกว่า โดยใช้สารทำความเย็น HFC-32 หรือ R-32 แทนสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC หรือ R-22) พร้อมนำร่องเปิดอบรมเทคโนโลยีในการผลิต ติดตั้ง และการซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-32 อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีผู้ประกอบการนำร่องเข้าร่วมโครงการ 12 ราย โดยมีบริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ จำกัด ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและถ่ายทอดเทคโนโลยีหลักจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือ สำนักควบคุมวัตถุอันตราย 02 202 4228
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการภายใต้พิธีสารมอนทรีออล อันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นในการพิทักษ์ชั้นบรรยากาศโอโซน และเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันในระดับโลก ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันแล้วรวม 197 ประเทศ ซึ่ง กรอ. ได้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนของประเทศไทย (Thailand HCFC Phase-out Project : HPMP) โดยได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีพิธีสารมอลทรีออล และยังได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากรัฐบาลญี่ปุ่น
ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014-2018 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศ และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตโฟม โดยสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC-22) หรือที่เรียกกันว่า R-22 ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศ มีค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ODP = 0.05 ค่าศักยภาพทำให้โลกร้อน GWP 1,810 แต่ปัจจุบันพบว่าสารทำความเย็น HFC-32 หรือที่เรียกกัน R-32 มีค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ODP = 0 ค่าศักยภาพทำให้โลกร้อน GWP 675 ซึ่งมีผลกระทบกับสภาพภูมิอากาศโลกน้อยลง 2.68 เท่า
ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศให้เลิกใช้สาร R-22 โดยปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสารทดแทนที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกน้อยกว่า ซึ่งการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไปใช้สารทำความเย็น R-32 ในเครื่องปรับอากาศ จะต้องมีการออกแบบ การทดสอบและการติดตั้งใหม่ ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งบริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ จำกัด ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและถ่ายทอดเทคโนโลยีหลักจากประเทศญี่ปุ่นแก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้เนื้อหาของการจัดอบรมจะเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต การติดตั้ง และการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-32 รวมถึงการศึกษาดูงาน ณ บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศของไทยที่เข้าร่วมโครงการ 12 ราย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้ประกอบการไทยจะมีความสามารถในการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-32 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ดร.พสุ กล่าวสรุป