กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน จัดมหกรรมรณรงค์ป้องกันภัยโรคไข้มาลาเรีย เนื่องในวันมาลาเรียโลก (25 เมษายน ของทุกปี) ซึ่งปีนี้มีคำขวัญของการรณรงค์ว่า ร่วมลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใส ร่วมใจเอาชนะโรคมาลาเรีย ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โดยมีนายแพทย์ประวิ อ่ำพันธุ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 10 เป็นประธานในพิธี ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆประกอบด้วย การเดินรณรงค์ในหมู่บ้าน การแสดงของแสดงพื้นบ้านให้ความรู้เรื่องไข้มาลาเรียของ อสม. กิจกรรมชุบมุ้ง และมอบมุ้งชุบน้ำยาแก่ชาวบ้าน การเจาะเลือดเพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคมาลาเรียในหมูบ้าน นิทรรศการให้สุขศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการป้องกันไข้มาลาเรีย และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในหมู่บ้านและบริเวณรอบหมู่บ้าน มีประชาชนและอสม. ร่วมงานกว่า 300 คน
นายแพทย์ประวิ อ่ำพันธุ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 10 กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไข้มาลาเรียของจังหวัดศรีสะเกษ ในขณะนี้ ยังคงน่าเป็นห่วง หากเราไม่ช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง เพราะว่าในอดีต คนที่เป็นไข้มาลาเรียเกือบทั้งหมดจะไปรับเชื้อมาลาเรียมาจากในป่า แต่ในปัจจุบันมีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจากการไปกรีดยางพาราเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติภารกิจในป่า ทำให้เจ้าหน้าที่มาลาเรียไม่สามารถเข้าไปป้องกันควบคุมโรคได้ การรณรงค์ในวันนี้ เป็นแค่การปลุกกระแสให้ทุกคนได้ตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้น และช่วยกันควบคุม ป้องกัน ลดการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ให้ได้ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัย ของตัวท่านเอง รวมทั้งบุตรหลานที่ต้องอาศัยในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย
ด้าน นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่นำโดยยุงก้นปล่องบางชนิด ไปกัดคนที่เป็นไข้มาลาเลียแล้ว เชื้อจะเจริญอยู่ในยุงประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นเมื่อยุงมีเชื้อไข้มาลาเรีย ไปกัดบุคคลอื่นก็จะถ่ายเชื้อไข้มาลาเรียให้แก่บุคคลนั้น หลังจากบุคคลที่รับเชื้อแล้วประมาณ 10-14 วันก็จะมีอาการป่วยเป็นไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น ซึ่งมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ครั่นตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ร่างกายออ่นเพลีย ทำงานไม่ไหว เมื่อเป็นนาน ๆ ร่างกายจะซูบซีด และในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว วิธีการป้องกัน อย่าให้ยุงก้นปล่องกัด โดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยา หรือใช้ยากันยุงทา ใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด และเมื่อมีอาการปวดหัว ตัวร้อน และสงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย ควรรีบไปตรวจและรักษาที่มาลาเรียคลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอได้ทุกแห่ง
ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 18 เม.ย. 2558 พบรายงานผู้ป่วยไข้มาลาเรีย ในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ทั้งสิ้น 1,089 ราย พบมากที่สุดใน จ.อุบลราชธานี 926 ราย รองลงมาคือ จ.ศรีสะเกษ 143 ราย และหากแยกเป็นรายอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีผู้ป่วยไข้มาลาเรียมากที่สุด คือ อ.บุณฑริก พบผู้ป่วย 412 ราย รองลงมา คือ อ.นาจะหลวย 339 ราย อ.ภูสิงห์ 51 ราย อ.น้ำยืน 43 ราย และอ.กันทรลักษ์ 42 ราย ตามลำดับ จะสังเกตุเห็นว่าพื้นที่ ทุรกันดาร พื้นที่สูงที่เป็นป่าเขา ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ประชาชนยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเท่าที่ควร และบางส่วนเกิดจากการเคลื่อน ย้ายเข้ามาในประเทศไทยของแรงงานต่างชาติ แรงงานเหล่านี้ขาดโอกาสในการเข้า ถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การต่อสู้กับโรคไข้มาลาเรียต้องได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งจากประชาชนที่อาศัยในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย หรือ ผู้ที่เดินทางเข้าไปพักค้างในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย ต้องรู้จักป้องกันตนเองจากยุงกัดให้ถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะในเวลาที่ยุงก้นปล่องหากินช่วงเย็นค่ำจนถึงใกล้รุ่งสาง รวมทั้งรู้จักอาการที่เข้าข่ายสงสัยของโรคไข้มาลาเรีย เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น เพื่อไปตรวจเลือดหาเชื้อให้เร็วที่สุด ก่อนอาการจะรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" น.พ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย
ข้อความสำคัญ : “ร่วมลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใส ร่วมใจเอาชนะมาลาเรีย”