กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือ เรื่อง การปฏิรูประบบการค้าข้าวเหนียวไทย ร่วมกับชมรมโรงสีข้าวเหนียวภาคอีสาน และอธิบดีกรมการข้าว ณ ห้องประชุมศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น ว่า ข้าวเหนียวนับเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปัจจุบันไทยมีการผลิตข้าวเหนียวเพื่อบริโภคภายในประเทศร้อยละ 95 และส่งออกในภูมิภาคอาเซียนและตลาดเอเชียร้อยละ 5 ของผลผลิต โดยมีพื้นที่เพาะปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนบน ประมาณ 16.7 ล้านไร่ ผลผลิต 5 – 8 ล้านตันข้าวเปลือก ดังนั้น การบริหารจัดการข้าวเหนียวให้มีประสิทธิภาพ และเป็นสินค้าหลักในการส่งออก ซึ่งนอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันให้นำเรื่องการผลิตและการค้าข้าวเหนียว เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และคณะอนุกรรมการฯ ด้านการผลิต และคณะอนุกรรมการฯ ด้านการตลาดแล้ว จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดด้วย โดยการจัดทำข้อมูลรายละเอียดข้าวเหนียว เกี่ยวกับจำนวนผลผลิต สต๊อก การบริโภคในจังหวัด ระบบตลาด การส่งออกไปจำหน่ายที่ต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาอุปสรรค อาทิ พันธุ์ข้าวเปลือกเหนียว มาตราฐานข้าวสารเหนียว การกีดกันทางการค้าของประเทศจีนและอินโดนีเซีย ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อทราบความเคลื่อนไหวการผลิตและการค้าข้าวเหนียวของแต่ละจังหวัด และสามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า กรมการข้าว ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวเหนียว เพื่อปรับลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยไม่ใช้สารเคมี ด้วยวิถีกสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ชีวิตที่พอเพียง ตามบันได 9 ขั้น เพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืนของชาวนาธรรมชาติ เป็น Smart Farmer ข้าวเหนียว โดยในช่วงฤดูนาปี 2558/59 จะดำเนินการนำร่อง 4 จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น ส่วนฤดูนาปรัง 59 ดำเนินการในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และชัยภูมิ
นายอำนวย กล่าวอีกว่า ถ้าหากปฏิรูประบบการผลิตไม่ได้อย่าหวังว่าจะปฏิรูประบบการค้าได้ โดยในการหารือครั้งนี้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวเหนียวเห็นด้วยและสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการปฏิรูประบบการผลิตและค้าข้าวเหนียวไทยอย่างจริงจัง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาสินค้าข้าวเหนียวเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต่อชาวนา และผู้ประกอบการ ทั้งระบบการผลิตและการตลาดข้าวเหนียวไทยโดยรวม จึงได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งแก้ปัญหาพันธุ์ข้าวเหนียวนาปรังของภาคอีสาน ที่คุณภาพการขัดสีและคุณภาพการหุง เมื่อเทียบกับพันธุ์สันป่าตอง 1 ที่ปลูกทางภาคเหนือ และหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการแก้ไขมาตราฐานข้าวสารเหนียว ให้ชัดเจนเพื่อยกระดับคุณภาพเช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิ อีกทั้งยังสั่งการให้ตั้งศูนย์ข้อมูลข้าวเหนียวไทย อีกด้วย