รพ.กรุงเทพ เตือนระวังภัยเงียบจากการนอน อาจก่อสารพัดโรค

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--Mascot “การนอนหลับ” คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคนเรานอน เพียงแค่เพื่อการพักผ่อน หลังจากทำงานมาเหน็ดเหนื่อยทั้งวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีคนหลายคนนอนกลางวัน หลังจากอ่อนเพลียจากการทำงานช่วงเช้า โดยไม่รู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับในช่วงกลางคืน บางคนเข้าใจผิดว่ายิ่งนอนมากยิ่งดี ซึ่งอันที่จริงการนอนมากเกินไปอาจมีผลเสีย โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงได้จัด “งาน Sleep Disorder รู้ทันภัยร้าย ภายใต้การนอนหลับ” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีคุณภาพ พร้อมแนะวิธีแก้ปัญหาการนอนที่ผิดปกติซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนก่อให้เกิดโรคภัยตามมามากมาย นายแพทย์ จักริน ลบล้ำเลิศ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มารับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแล้วพบว่า มีปัญหาความผิดปกติในการนอนร่วมด้วย ซึ่งอาการของการนอนหลับผิดปกติ (Sleep Disorders) เหล่านี้พบมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะถือเป็นภัยเงียบที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคอ้วน เป็นต้น โรคที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนหลับไม่เต็มที่ซึ่งพบได้บ่อย เช่น นอนกรน และหากสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบว่าผู้ที่กรนจะหยุดกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ช่วงนั้นเองที่มีการหยุดหายใจเกิดขึ้น และเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจากการหยุดหายใจ ร่างกายจะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะทำให้การหลับของคนที่กรนและหยุดหายใจนั้นถูกขัดขวาง ทำให้ตื่นขึ้น โดยจะมีอาการเหมือนสะดุ้งเฮือก หรืออาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง แล้วก็กลับมาเริ่มหยุดหายใจใหม่ นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่นๆ เช่น ตื่นไปเข้าห้องน้ำกลางดึก ปวดศีรษะตอนเช้า ความจำลดลง ถ้าไม่รักษาภาวะดังกล่าวอาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ง่วงนอนในขณะขับรถจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ และยังอาจส่งผลต่อคนรอบข้าง นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะพบภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับร่วมได้กับเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง ถ้าไม่รักษาภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับก็อาจจะส่งผลทำให้โรคบางอย่างเช่น ความดันโลหิตสูงคุมด้วยยาได้ไม่ดี อาการกรน และหยุดหายใจในขณะหลับพบได้บ่อยในคนอ้วน พบได้ในทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยพบบ่อยในผู้ชาย คนที่มีอายุมากขึ้นมีความเสี่ยงมากขึ้นในการมีภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยมักมีปัญหานอนกรนจากหลายสาเหตุได้ ดังนั้น การแก้ไขหรือรักษา จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนเป็นลำดับแรกแล้วจึงหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แล้วพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป คนที่มีอาการต่างๆที่กล่าวมา สามารถรับการตรวจโดยเครื่อง Sleep Lab หากพบมีอัตราการหยุดหายใจมากระดับหนึ่งอาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (continuous positive airway pressure) หรือ CPAP เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการหยุดหายใจในขณะหลับ และอาการกรน โดยปกติเวลานอน ลิ้นไก่ที่ยาว และโคนลิ้นที่โต จะตกลงมาบังทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ลมที่เป่าเข้าไป จะไปถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก (pneumatic splint) ช่วยลดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่กรน และไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดา และกรนอันตราย หรือเป็นกรนอันตรายที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงรุนแรง ปัจจุบันตัวเครื่อง CPAP มีขนาดเล็ก สามารถพกพาไปที่ไหนๆ ได้ค่อนข้างสะดวก การใช้เครื่อง CPAP จะเหมือนการใส่แว่นตาใหม่ๆ คืออาจรู้สึกอึดอัดบ้างในช่วงแรก ต้องใส่ๆ ถอดๆ เมื่อชิน ก็จะใส่ได้เอง การรักษาวิธีนี้ผู้ป่วยควรใช้เครื่อง CPAP ทุกคืน คืนใดไม่ใช้ ก็จะมีอาการกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอีก การง่วงนอนตอนกลางวัน อาจเป็นได้จากหลายสาเหตุ เนื่องจากการนอนหลับที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาแค่จำนวน 6-8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับ การพักผ่อนอย่างเต็มที่ และเวลาเข้านอน-ตื่นนอนที่เหมาะสม ไม่ควรนอนดึก หรือตื่นสายจนเกินไป สาเหตุของการง่วงนอน เกิดได้จากระยะเวลาในการนอนไม่เพียงพอ ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนจำนวนมาก ต้องอดหลับอดนอนหลายคืน ติดต่อกันบ่อยๆ มีการศึกษาพบว่าในคนที่อดนอนจะใช้เวลานานในการคิดมากกว่าคนที่นอนอย่างเพียงพอ รวมทั้งในคนที่อดนอนจะมีโอกาสทำงานผิดพลาดมากกว่าคนที่นอนหลับอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นแล้วยังมีผลต่ออารมณ์ทำให้หงุดหงิดง่ายขึ้น มีบางภาวะเกิดจากความผิดปกติของสมอง มีผลทำให้ง่วงนอน ผิดปกติ หรืออาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ Narcolepsy โดยคนไข้ในกลุ่มนี้จะมีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน ถ้าได้งีบจะรู้สึกสดชื่นขึ้น แต่ไม่นานก็มักจะมีอาการง่วงอีก บางคนอาจมีอาการคอพับ เข่าทรุดหรือความตึงตัว ของกล้ามเนื้อลดลงทันทีทันใด ทำให้อ่อนแรงฉับพลันชั่วขณะหนึ่ง อาการพวกนี้มักถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์ขบขัน ส่วน Idiopathic hypersomnia เป็นคนไข้ที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา ถึงแม้จะนอนหลับในช่วง กลางคืนเป็นระยะเวลาที่นานพอ และหลับได้ลึกเพียงพอแล้วก็ตาม ซึ่งอาการเหล่านี้ควรต้องพบแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง อาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท เกิดได้จากปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นต่างๆ เช่น การนอนมากเกินไปในคืนก่อนหน้า การนอนกลางวันมากเกินไป การนอนไม่หลับที่เกิดจากความเครียด บางคนคิดว่าตนเองนอนไม่หลับแต่จริงๆ แล้วนอนหลับ อันนี้เราจะทราบเมื่อผู้ป่วยในกลุ่มนี้มาทำการศึกษาการนอนหลับโดยการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองแล้ว พบว่าจริงๆ แล้วคนไข้นอนหลับในขณะที่ตนเองรู้สึกว่ายังไม่หลับ การรักษาโดยการใช้ยาหรือไม่ใช้ยาขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ นายแพทย์ภาสกร ถาวรนันท์ แพทย์ด้านหู คอ จมูก โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการกรนมีหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน ท่าในการนอน โพรงจมูกคด เป็นต้น ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการลดน้ำหนัก เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จะมีไขมันมาพอกรอบคอ หรือทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงโคนลิ้นที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ การลดน้ำหนัก จะช่วยลดไขมันดังกล่าว ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น และมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับน้อยลง ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยการออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยในการลดน้ำหนักแล้ว ยังจะเพิ่มความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย ทำให้มีการหย่อนและอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยลง, การเปลี่ยนท่านอนเป็นการนอนตะแคงช่วยลดอาการกรนได้ในคนส่วนใหญ่ เพราะลิ้นจะไม่ตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจเหมือนในขณะนอนหงาย ส่วนขั้นตอนการรักษาอาการนอนกรนต่อมาคือ การผ่าตัด เพื่อขยายขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น ซึ่งการผ่าตัดจะทำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน การผ่าตัดไม่ได้ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจหายขาด หลังผ่าตัดอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจยังเหลืออยู่ หรือ มีโอกาสกลับมาใหม่ได้ ส่วนการรักษาโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency , RF) เหมาะสำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่ไม่รุนแรง ที่เกิดจากการหย่อนยานของเพดานอ่อนและลิ้นไก่ โดยที่ไม่ต้องตัดเพดานอ่อน และ/หรือ ลิ้นไก่ออก ที่นิยมมากในปัจจุบันการรักษานี้ทำโดยแพทย์จะใส่เครื่องมือซึ่งเป็นเข็มชนิดพิเศษ แทงเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและส่งคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนในเนื้อเยื่อดังกล่าว เพื่อทำให้เนื้อเยื่อเกิดเป็นพังผืดและมีการหดตัว ซึ่งจะทำให้เพดานอ่อนลดการหย่อนตัวหรือ สั่นสะเทือนขณะหายใจลดลง ผลการรักษามักเห็นได้ใน 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและอายุมากขึ้น อาการอาจกลับมาเป็นอีก แต่ถ้าผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สามารถทำซ้ำได้อีก นอกจากนี้ยังมี การผ่าตัดฝัง Pillar prosthesis เพื่อทำให้เพดานอ่อนแข็งขึ้น ลดการสั่นกระพือที่ทำให้เกิดเสียงกรน การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน การผ่าตัดแก้ปัญหาเรื่องจมูก และอื่นๆ แพทย์หญิงศรินพร มานิตศิริกุล อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การนอนหลับที่ผิดปกตินั้น ยังสามารถส่งผลถึงภาวะความทรงจำได้อีกด้วย เพราะการนอนเป็นการจดบันทึกข้อมูลที่ได้ในช่วงก่อนที่จะหลับ แล้วย้ายข้อมูลจากฐานข้อมูลความจำชั่วคราวไปยังความจำระยะยาว ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและเป็นแบบแผน มีการจัดการทั้งความจำที่รู้ตัวและความจำที่ไม่รู้ตัว ตอนที่เราตื่นจะมีสัญญาณประสาทเพิ่มมากขึ้น การหลับที่ดีจะลดการตื่นตัวของสัญญาณประสาท อีกทั้งการนอนยังเป็นการปรับสมดุลของอารมณ์ การอดนอนทำให้สมองส่วน amygdala ที่ควบคุมด้านอารมณ์ทำงานมากเกินไป ทำให้การควบคุมอารมณ์ผิดปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความจำอีกด้วย เมื่อนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้กระบวนการเรียนรู้การจัดเก็บความจำจะไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีการสื่อประสาทมากไปจะเกิดภาวะ overload ไม่สามารถเรียนรู้ความจำใหม่ๆ ได้ การสื่อประสาทของสมองส่วนหน้าทำงานได้ไม่ดี ส่งผลให้ความใส่ใจในการดำเนินชีวิตประจำวันลดลง เช่น มีปัญหาในการขับรถ, การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีปัญหาการจัดการของอารมณ์ซึ่งส่งผลต่อภาวะความจำ นอกจากนี้พบว่าระยะเวลาในการนอนของเด็กไม่เหมือนของผู้ใหญ่ การสื่อประสาทระหว่างสมองส่วนหน้าในเด็กยังไม่พัฒนาเท่ากับในผู้ใหญ่ แต่การสื่อประสาทที่พบในขณะที่ตื่นของผู้ใหญ่ สามารถพบในเด็กได้มากกว่าโดยเฉพาะในเวลานอนหลับ นอกจากนี้คุณภาพของการนอนและระยะเวลาในการนอนมีความสัมพันธ์กับความจำ ทั้งในด้านความสามารถ ด้านการจัดการ, สติปัญญา, ผลการเรียน การนอนน้อยส่งผลกับพฤติกรรมของเด็ก อาทิ เด็ก 10-14 ปี นอน 5 ชั่วโมง มีผลต่อความจำด้านการจัดการแต่ไม่มีผลต่อความสนใจและความใส่ใจ เด็ก 8-15 ปี นอน 4 ชั่วโมง มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เด็ก 6-12 ปี นอน 6 ชั่วโมงครึ่งเป็นเวลาเจ็ดวัน มีผลต่อการเรียน เด็ก 12-15 ปี อดนอน มีผลต่อการคำนวณและการจำคำศัพท์ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความจำลดลง มาจากความเครียด โรคทางจิตเวช ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการนอน โรคไต จนเกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้อในสมอง ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ เนื้องอกในสมอง โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด สมองเสื่อมแบบเลวี่ นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ความจำเสื่อมได้ อย่างไรก็ตามการนอนหลับที่ผิดปกตินั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยทั้งในคนปกติและคนที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ความเข้าใจกลไกการนอนของมนุษย์จึงมีผลต่อการรักษา แพทย์จำเป็นต้องได้รับข้อมูลประวัติการนอนหลับที่ละเอียดรวมถึงประวัติการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้อง การตรวจการนอนหลับด้วยเครื่อง Sleep lab อาจจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ยังหาสาเหตุความผิดปกติในการนอนหลับไม่ได้ชัดเจน หรือผู้ที่อาการยังไม่ดีขึ้นทั้งที่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้นหากใครที่พบว่าตนมีความผิดปกติในการการนอนควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไข ก่อนที่ภัยร้ายจากการนอนจะคุกคามสุขภาพของเรา บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ