กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
รมว.พม. เป็นประธานเปิดการใช้บริการเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) สำหรับคนพิการทางการได้ยิน เพื่อให้บริการในสถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด
วันนี้ (๒๗ เม.ย.๕๘) เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการใช้บริการเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) สำหรับคนพิการทางการได้ยิน เพื่อให้บริการในสถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด อันเป็นสื่อกลางให้แก่คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ได้มีโอกาสใช้บริการโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียมและสามารถติดต่อสื่อสารได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ดำเนินโครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือศูนย์ TTRS เพื่อเป็นสื่อกลางให้แก่คนพิการทางการได้ยิน หรือสื่อความหมาย ได้มีโอกาสใช้บริการโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียมและสามารถติดต่อสื่อสาร ได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และ ขาดแคลนโอกาสทางสังคมที่อยู่ภายใต้ความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้การสนับสนุนและดูแลอยู่นั้น ถือเป็นอีกความร่วมมือหนึ่งที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกัน
บูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่ความเสมอภาคและเท่าเทียม เป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนที่พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายให้สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตู้ TTRS มีการติดตั้งจำนวน ๑๒๐ ตู้ ทั่วประเทศ โดยติดตั้ง ในสถานศึกษา สถานที่ราชการ สถานีขนส่งมวลชน บริษัทเอกชน ซึ่งมีคนพิการทางการได้ยินทำงานอยู่ และชมรม คนหูหนวกทั่วประเทศ และล่าสุดที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ทั้ง ๒๗ สาขา โดยผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จะได้รับประโยชน์จากการบริการของตู้ TTRS ดังนี้ ๑)บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบ “SMS” (ข้อความสั้นๆ) “e-mail” (ข้อความภาพนิ่ง, ภาพเคลื่อนไหว) โดยผู้บกพร่องทางการได้ยินจะส่งผ่านข้อความต่างๆ ไปยังศูนย์ที่มีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสาร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่งเป็นเสียงพูดไปยังผู้รับปลายทาง ๒)บริการถ่ายทอดการสื่อสาร แบบข้อความออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต ๓)บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบภาพเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ต ๔)บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบภาพเคลื่อนไหวบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๕)บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบภาพเคลื่อนไหว บนเครื่องบริการสาธารณะ และ ๖)บริการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน
“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความยินดีที่สำนักงาน กสทช.และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือศูนย์ TTRS เพื่อเปิดโลกเงียบให้แก่คนพิการทางการ ได้ยินหรือสื่อความหมาย ซึ่งการติดตั้งตู้ TTRS ที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด จะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคม ได้อย่างเท่าเทียมต่อไปในอนาคต”พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย