โพลล์เผยพฤติกรรมความถี่ในการตีตั๋วเข้าชมภาพยนตร์

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส, อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, อาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้เสียงและการเข้าชมภาพยนตร์ของเยาวชนไทย จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 19-22 ปีระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 2558 จำนวน 1,162 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.77 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.23 เป็นเพศชาย ด้านการศึกษาร้อยละ 32.79 มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า ในด้านพฤติกรรมการไปรับชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 35.71 ไปรับชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์โดยเฉลี่ยเดือนละครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.71 ระบุว่าไปรับชมโดยเฉลี่ย 2 ถึง 3 สัปดาห์ต่อครั้ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.16 ไปรับชมโดยเฉลี่ย 2 ถึง 3 เดือนครั้ง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.97 ระบุว่าตนเองไปรับชมโดยเฉลี่ย 4 ถึง 6 เดือนต่อครั้งหรือต่ำกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.45 ที่ระบุว่าตนเองไปรับชมสัปดาห์ละครั้งหรือมากกว่า นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นิยมไปรับชม-ภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์กับเพื่อนๆ บ่อยที่สุดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41.31 รองลงมาประมาณเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.18 นิยมไปรับชมกับแฟน/คนรักบ่อยที่สุด ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.87 นิยมไปรับชมกับครอบครัว/ญาติพี่น้อง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.28 ไปรับชมกับบุคคลอื่นๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.36 นิยมไปรับชมคนเดียว และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) กับวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์/นักขัตฤกษ์) กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.74 ระบุว่าตนเองนิยมไปรับชมในวันหยุดมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.57 นิยมไปรับชมในวันธรรมดามากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.69 นิยมไปรับชมเท่าๆ กัน ในด้านพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ในโรงภาพยนตร์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.67 ยอมรับว่าตนเองเคยพูดคุยโทรศัพท์ขณะรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์บ้างบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.14 ระบุว่าไม่เคยเลย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.19 ยอมรับว่าเคยพูดคุยเป็นประจำ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.44 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวผู้อื่นจะรู้สึกรำคาญขณะที่ตนพูดคุยโทรศัพท์ในโรงภาพยนตร์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.55 ไม่รู้สึกกลัว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.01 ไม่แน่ใจ ในทางกลับกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.02 ระบุว่าตนเองเคยพบเห็นผู้ที่พูดคุยโทรศัพท์ขณะรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์บ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.96 ระบุว่าเคยพบเห็นเป็นประจำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.02 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.38 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกรำคาญผู้ที่พูดคุยโทรศัพท์ขณะรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.97 ไม่รู้สึกรำคาญ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.65 ไม่แน่ใจ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ในโรงภาพยนตร์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.52 มีความคิดเห็นว่าการพูดคุยโทรศัพท์ในโรงภาพยนตร์ถือเป็นการรบกวนการรับชมภาพยนตร์ของผู้อื่นมาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.6 มีความคิดเห็นว่าถือเป็นการรบกวนบ้าง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 12.22 ระบุว่าไม่ถือเป็นการรบกวน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.66 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.57 มีความคิดเห็นว่าโฆษณารณรงค์การงดใช้โทรศัพท์ขณะรับชมภาพยนตร์ที่นำเสนอก่อนฉายภาพยนตร์มีส่วนกระตุ้นให้ตนเองไม่ใช้โทรศัพท์ขณะรับชมภาพยนตร์ได้ แต่อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.96 ยอมรับว่าไม่มีส่วน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.68 ระบุว่าตนเองไม่เห็นด้วยหากจะมีการบังคับให้ผู้ชมฝากโทรศัพท์ไว้ที่หน้าโรงภาพยนตร์ก่อนเข้าชมภาพยนตร์ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.39 ระบุว่าตนเองเห็นด้วยหากจะมีการเชิญให้ผู้ที่พูดคุยโทรศัพท์ในโรงภาพยนตร์ออกจากโรงภาพยนตร์ทันทีแทนการตักเตือนก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ