กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· สมศ. เผยผลการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ สู่การยกระดับการศึกษาบูรณาการแผนพัฒนาการศึกษารายจังหวัดรองรับการเปิดเสรีอาเซียน
· สมศ. ชี้ปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลต้องตั้งต้นจากผลประเมินฯ สมศ. พร้อมเตรียมสรุปผลประเมินการศึกษาทั่วประเทศ รอบ 3 สู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างมีคุณภาพ
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผยรายชื่อ 10 จังหวัดคุณภาพ พร้อมสถิติคุณภาพการศึกษาไทย จากผลประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถม – มัธยม ทั้ง 3 รอบที่ผ่านมา มีจำนวนสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ ระยะเวลา 15 ปี เพียงจำนวน 354 แห่ง จากสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินจำนวน 31,797 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 1.11 (จำนวนทั้งหมด 32,936 แห่ง) จากผลประเมินสามารถสรุปได้ว่าเกิดมาจากการตื่นตัวและการให้ความสำคัญในการประเมินของผู้บริหาร ด้วยการใช้ระบบประกันคุณภาพภายในเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนสถานศึกษา โดยนำผลการประเมินรอบที่ 1-2 มาปรับใช้อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเพื่อพัฒนานักเรียนทุกคน และจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และมีคุณลักษณะตามเกณฑ์ เป้าหมาย และมาตรฐานของหลักสูตรที่ได้กำหนดไว้
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.กล่าวว่า จากสถิติได้จากผลการประเมินทั้ง 3 รอบ 15 ปีที่ผ่านมามีจำนวนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับการประเมินในระดับดีมากทั้ง 3 รอบ จำนวน 354 แห่ง จากสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินจำนวน 31,797 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 1.11 (จำนวนทั้งหมด 32,936 แห่ง) โดยจังหวัดที่มีร้อยละของสถานศึกษาที่ได้รับผลประเมินจาก สมศ. ดีมากทั้ง 3 รอบ 10 จังหวัดแรก ได้แก่
1. กรุงเทพฯ (ร้อยละ 8.80)
2. นนทบุรี (ร้อยละ 7.39)
3. ภูเก็ต (ร้อยละ 4.48)
4. สมุทรปราการ (ร้อยละ 4.39)
5. นครปฐม (ร้อยละ 4.19)
6. ปทุมธานี (ร้อยละ 3.60)
7. ร้อยเอ็ด (ร้อยละ 3.07)
8. ประจวบคีรีขันธ์ (ร้อยละ 2.69)
9. มหาสารคาม (ร้อยละ 2.48)
10. ยโสธร (ร้อยละ 2.45)
นอกจากนี้ สมศ. ยังได้เก็บข้อมูลสถิติการศึกษาไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2553 - พ.ศ.2557 พบว่าประเทศไทยมีครูในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (ประเภททั่วไป) จำนวน 404,263 คน มีนักเรียนทั้งประเทศรวมกัน 8,338,512 คน มีสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งหมด 32,936 แห่ง โดยจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีจำนวนสถานศึกษามากที่สุดจำนวน 1,530 แห่ง ส่วนจังหวัดที่มีนักเรียนและครูมากที่สุดคือกรุงเทพฯ มีจำนวนนักเรียน 824,581 คน และมีครู-อาจารย์จำนวน 38,438 คน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก รอบที่ 4 ของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2559-2563 จะนำระบบการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ (Area-Based Assessment) เพื่อให้การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ ด้วยการนำผลการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดทั้งในระดับการศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ด้านการอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา นำสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดอันเป็นการสร้างวิถีชีวิตคุณภาพสู่วัฒนธรรมคุณภาพ
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ของการประเมินคุณภาพเชิงคุณภาพพื้นที่ ABA จะทำให้จังหวัด หน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษา นำข้อมูลไปใช้วางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนของพื้นที่และจังหวัดให้ความสนใจและเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจังโดยให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์จังหวัดและบรรจุแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไว้ในแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึง ทบทวนกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาในพื้นที่ให้สอดคล้องกับงานด้านการปกครอง ตลอดจนการจัดทำระบบฐานข้อมูลการศึกษาในระดับจังหวัดเป็นภาพรวมเพื่อใช้วางแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของแต่ละจังหวัด ในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่ายในการระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัด
อย่างไรก็ตาม ในการประเมินรอบ 3 ที่ผ่านมา สำนักงานได้จัดทำโครงการการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ ABA ในรูปแบบงานวิจัย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ดำเนินการนำร่อง 8 จังหวัด ในปี 2556 จำนวน 20 จังหวัด จากการสอบถามสถานศึกษา 1,300 แห่ง ในพื้นที่ 28 จังหวัด พบว่า สถานศึกษาทุกระดับได้นำผลการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ ไปใช้ในการจัดระบบการประกันคุณภาพภายใน ร้อยละ 83 นำไปปรับปรุงและสนับสนุนการเรียนการสอน ร้อยละ 81.50 ผลการประเมินมีส่วนกระตุ้นและสร้างความตระหนักในการพัฒนา ร.ร. ร้อยละ 80.90 และผลการประเมินสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนา ร.ร. ร้อยละ 80.60 ส่วนผลวิจัยจากการ Focus Group พบว่าส่วนใหญ่ ร.ร.นำผลไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการดำเนินงานจะสำเร็จและบรรลุผลได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของบุคลากรใน สถานศึกษา เกิดความเข้าใจและมีความตระหนักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th