กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--มายแบรนด์ เอเจนซี่
ผีตาโขนย่อส่วนที่ระลึกเล็กๆ แต่มีเรื่องราวผลงานเด็ก “เลย” แชมป์กรุงไทยยุววาณิช
“ผีตาโขน”คืองานประเพณี วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นที่รู้จัก พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนเป็นแหล่งรวมเรื่องราวของผีตาโขนไว้ สถานที่นี้นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวชม พร้อมมีเวิร์กชอปเล็กๆให้ทดลองทำหน้ากากผีตาโขนดู
ชาวด่านซ้ายนั้นส่วนใหญ่จะมีฝีมือด้านการวาดหน้ากากผีตาโขน ซึ่งร.ร.ในชุมชนได้นำไปบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่น โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา ได้เปิดการสอนวาดหน้ากากผีตาโขนให้กับนักเรียนในคาบเรียนศิลปะ ความรู้จากชั้นเรียนในระดับมัธยมวันนี้ สามารถก่อตั้งเป็นธุรกิจได้
บริษัท ตาโขน จำกัด เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยาจ.เลย จำนวน 15 คน ทำสินค้าผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวขึ้น
นางสาวอารยา เครือหงษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา ในฐานะประธาน บริษัท ตาโขน จำกัด บอกเล่าว่าเธอและเพื่อนๆมองเห็น จุดอ่อนของตลาดขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวในชุมชน เพราะอย่างที่รู้นักท่องเที่ยวมาเยือนด่านซ้ายต้องไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ซึ่งที่นี่มีสินค้าจำหน่ายที่เป็นหน้ากากผีตาโขน แต่เพื่อลองเก็บข้อมูลดูพบว่านักท่องเที่ยวตัดสินใจซื้อสินค้ายากเพราะราคาหน้ากากที่ต้องใช้ฝีมือทางศิลปะสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาประณีต ทำให้สินค้ามีราคาสูง ราคาเริ่มต้นที่ 3,000-10,000 บาท
ในมุมมองแบบวัยรุ่นสินค้าที่ระลึกราคาสูงเช่นนี้ ไม่สามารถเรียกเงินจากนักท่องเที่ยวกระเป๋าเบา และกลุ่มวัยรุ่นอย่างเธอได้ เมื่อระดมความคิดกันแล้วอยากทำในสิ่งที่ท้าทาย ในการเปิดโลกเรียนรู้สู่การทำธุรกิจ เธอและเพื่อนๆซึ่งอยู่ในชั้น ม.4 ได้ระดมเงินทุนคนละ 1,000 บาท จาก 15 คน
เงินทุน 15,000 บาท นำไปซื้ออุปกรณ์ ทำสินค้าที่ระลึกอย่างหน้ากากผีตาโขนขนาดจิ๋ว พวงกุญแจ และเสื้อยืด โคมไฟเพนท์ลายผีตาโขน อาทิราคาพวงกุญแจหนัง เข็มกลัด ขายราคา 30-35 บาท ที่ติดตู้เย็น เสื้อยืดตัวละ 159 บาท ส่วนโคมไฟราคาสูงขึ้นมาถ้าทำมาจากไม้ไผ่ ราคา800 บาท ไม้มะม่วงราคา 1,500 บาท
“จุดเด่นของผลิตภัณณฑ์จะเป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด โดยเพื่อนๆในกลุ่มช่วยกันวาดลวดลายลงบนพวงกุญแจบ้างหน้ากากผีตาโขนขนาดเล็กบ้าง ส่วนเสื้อยืดใช้วิธีสกรีน สินค้านำไปวางจำหน่ายในร้านขายของที่ระลึกทั่วอำเภอด่านซ้ายและอำเภอใกล้เคียง”
อารยาบอกว่า สินค้าได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวจังหวัดเลยจำนวนมาก โดยเฉลี่ยทำให้มียอดขายเสื้อยืดเฉลี่ย 300-400 ตัว ต่อเดือน และคาดว่าในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงมิ.ย.ที่จะมีงานประเพณีแห่ผีตาโขน สินค้าจะขายดีมากยิ่งขึ้น ในรอบแรกสมาชิกได้แบ่งกำไรแล้วได้คนละ 1,000 บาทในเดือนพ.ย.ปีที่ผ่านมา ที่เหลือเป็นทุนหมุนเวียนประมาณ 20,000 บาทและแบ่งสัดส่วนรายได้ 15 % (15,834.50 บาท) ไปซื้ออุปกรณ์สอนน้องๆและประชาชนทำโคมไฟผีตาโขน และผลิตภัณฑ์ผีตาโขน
ทั้งนี้การทำธุรกิจระหว่างเรียนทำให้ไม่มีเวลาในการที่จะผลิตสินค้าได้ทันตามออเดอร์ กลุ่ม บริษัท ผีตาโขน ได้กระจายงานไปให้ชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันวาดเพนท์ลาย บนพวงกุญแจ เข็มกลัด ทำโคมไฟ ซึ่งมีชาวบ้าน 2 กลุ่ม (เฉลี่ยกลุ่มละ2-3 คน) ที่รับงานไปทำต่อ ทำให้แต่ละเดือนชาวบ้านซึ่งมีอาชีพหลักเป็นเกษตรมีรายได้เดือนละ 3,000-4,000 บาท
สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต อารยา บอกว่า มีโครงการที่จะพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างมากขึ้นมีแนวคิดที่จะทำหน้ากากผีตาโขนจากเปเปอร์มาเช่ รวมทั้งการพัฒนาโคมไฟให้มีง่ายต่อขนส่งทางไปรษณีย์ อาจต้องทำให้ถอดประกอบได้ ทั้งนี้สินค้า ผลิตภัณฑ์ผีตาโขน ยังได้รับคัดเลือกให้ไปออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ เช่น งานศิลปหัตถกรรมนร.ระดับชาติ งานหัตถศิลป์ถิ่นโภชนา ซึ่งจัดโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ
ผลจากการประกอบธุรกิจที่ไม่เพียงแต่ทำให้ระหว่างเรียนมีรายได้ แต่ก่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ทำให้ ทีมจากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยาได้รับรางวัล ชนะเลิศจากการประกวดโครงการกรุงไทย ยุววาณิช ที่ธนาคารกรุงไทยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 พร้อมทีมจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง จ.บุรีรัมย์ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศร่วมกัน กับผลงานโครงการขยายพันธุ์พืชเพื่อชุมชน คือการขยายพันธุ์ต้นมะนาว โดยได้รับทุนการศึกษา 390,000 บาท โล่รางวัล และประกาศนียบัตร พร้อมทั้งศึกษาดูงานต่างประเทศ
“รู้สึกว่าตลอดระยะเวลาในการทำบริษัทตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่เวลาเราลงแรงกายลงแรงใจไป เราได้ผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่เคยทำมา สิ้นค้าของเรา เราได้ดึงเอาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นของอำเภอด่านซ้าย มาสร้างสรรค์มาเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งเราก็ไม่ได้ทำลายธรรมชาติหรือทำลายสภาพแวดล้อมบ้านเมืองของเรา ต้องขอขอบคุณธนาคารกรุงไทยที่ได้จัดตั้งโครงการ กรุงไทยยุววาณิชขึ้น เพื่อให้เราได้สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นผีตาโขน ที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก และขอขอบคุณมากๆ ที่ให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานระบบบริษัทต่างๆ และหวังว่าจะได้เข้าร่วมกับโครงการดีๆ อย่างนี้อีกทุกปีค่ะ” อารยาทิ้งท้าย
ทั้งนี้โครงการการกรุงไทย ยุววาณิช จัดขึ้น เพื่อจุดประกายและสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวคิดทุนทางปัญญาไม่มีวันหมด โดยเน้นให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้มีเวทีในการฝึกปฏิบัติการดำเนินธุรกิจ มีความสนใจและตื่นตัวที่จะใช้ความคิด ความรู้ที่มีอยู่ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำมาปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม
นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มการตลาดและสื่อสารองค์กร สายงานการตลาดและสื่อสารองค์กร ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โครงการ “กรุงไทย ยุววาณิช” มีจุดเด่นคือการสนับสนุนให้เยาวชนได้ประกอบธุรกิจจริง และภายในโครงการทุกโรงเรียนจะต้องแบ่งงบประมาณหรือผลกำไรไปทำกิจกรรมทางสังคมด้วย นอกจากนี้กิจกรรมที่นักเรียนทำยังสามารถต่อยอดได้จริง โดยธนาคารจะช่วยบ่มเพาะหลักการทำธุรกิจให้เยาวชนทุกอย่าง เด็กๆจะรู้ทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ที่จะต้องมีการแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งเยาวชนสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในอนาคตเมื่อจบการศึกษามา อยากทำธุรกิจก็สามารถทำได้เลย
“สิ่งที่ประทับใจและน่าชื่นชม คือนักเรียนสามารถนำความคิดทันสมัยของพวกเขามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งสินค้าที่เด็กๆ นักเรียนได้ทำสะท้อนให้เห็นถึงความหวงแหน และเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของไทยมากขึ้น โดยรู้จักนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีราคาได้ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบชุมชนเขา โดยรู้จักเอาของเหลือใช้มาแปรรูปเป็นสินค้า ขอให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันส่งเสริมกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงความสามารถและศักยภาพ ทั้งนี้กิจกรรมที่ธนาคารกรุงไทยทำที่ผ่านมาตลอด 13 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าเด็กและเยาวชนเหล่านั้นต่างมีศักยภาพ” นางศิริพร กล่าว