กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงาน ซึ่งวัยแรงงานถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่คนกลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะมีโรคและอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุกคาม
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากการจัดเก็บสถิติโรคฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับคนไทยโดยเฉพาะในช่วงวัยทำงาน อายุ 18-60 ปี ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.2557-30 เม.ย. 2558 พบว่า มีการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ในเรื่องอุบัติเหตุมากที่สุด รองลงมาคือมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคหัวใจ
สาเหตุที่คนวัยทำงานเป็นโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องจากมีความเครียด ไม่มีเวลาพักผ่อน และใช้เวลาอยู่กับการทำงานค่อนข้างมาก และความเครียดยังกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจบีบตัวและเต้นเร็วขึ้น หรืออาจส่งผลให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีไขมันในเลือดสูงและเกิดอุดตันหลอดเลือดได้ง่าย อีกทั้งอาจะทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือที่เรียกหัวใจวายได้ด้วย
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคหัวใจ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้คือ จุกเสียดแน่นตรงกลางหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวกเหมือนมีอะไรมีบีบรัด หรือกดทับ อาจปวดร้าวไปที่คอ แขนซ้าย หรือกราม ร่วมกับอาการคลื่นไส้ เหงื่อออกท่วมตัว อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่ออกกำลังกาย หรือทำงานหนักๆ แต่ถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาการแน่นหน้าอกอาจรุนแรง และอาการไม่ดีขึ้น แม้หยุดพักจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจอาจหยุดเต้นอย่างกะทันหันได้
ซึ่งการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจหรือหัวใจหยุดเต้นที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดี ที่ขณะนี้ สพฉ. ได้รณรงค์ให้มีการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่แล้ว อาทิ สนามบิน สถานีขนส่ง ห้างสรรพสินค้า ตลาดน้ำ ฯลฯ โดยหากพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนอื่นจะต้องตั้งสติและรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินที่สายด่วน 1669 จากนั้นให้ใช้เครื่องเออีดีช่วยชีวิตผู้ช่วย โดยฉีกซองบรรจุอิเล็คโทรดซึ่งมีอยู่ 2 ชิ้น แปะบนทรวงอกตามคำแนะนำของเครื่อง จากนั้นเครื่องจะทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจและให้กดปุ่มช็อคไฟฟ้าเพื่อทำการช่วยเหลือ ซึ่งต้องทำสลับกับการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพผู้ป่วย หรือ CPR โดยหากช่วยเหลือได้เร็วผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะมีโอกาสรอดมากยิ่งขึ้น
“ดังนั้นจากสถิติที่ผู้ป่วยวัยทำงานที่มีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น สถานที่ทำงานจึงน่าจะมีการพิจารณาติดตั้งเครื่องเออีดีด้วย หรืออย่างน้อยควรมีการฝึกอบรมพนักงานให้ใช้เครื่องและช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นเป็น เพื่อให้วัยทำงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้คนในวัยทำงานเองก็ต้องดูแลรักษาตัวเองให้ห่างไกลโรคด้วยเช่นกัน โดยต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญคือต้องไม่เครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ” นพ.อนุชากล่าว