เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ด้วย แสงซินโครตรอน

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2015 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนงานวิจัยแก่หน่วยงานสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมีความพร้อมทางด้านการให้บริการเทคโนโลยีสุญญากาศและเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรม เพื่อการแก้ปัญหาตอบโจทย์วิจัยให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร อีกทั้ง สถาบันฯ มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรม/สัมมนาในหลายรูปแบบ ให้แก่ผู้สนใจในระดับตั้งแต่ มัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงระดับปริญญาเอกและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา คณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ประเมินผลการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ต่างๆ ของสถาบันฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา พบว่าการดำเนินงานก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก หรือกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สะท้อนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของหน่วยงาน ในการยกระดับงานวิจัยของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดโครงการวิจัย ให้สามารถเผยแพร่ผลงานตีพิมพ์บทความทางวิชาการระดับนานาชาติ 64 บทความ และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปทำงานวิจัยที่ซินโครตรอนประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง และพอลิเมอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะและวัสดุกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนจุลภาคโดยสรุปได้ว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมทั้งหมด 1,906.85 ล้านบาท ตัวอย่างของภาคอุตสาหกรรม ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีบนเปลือกกุ้งแช่แข็งเพื่อปรับวิธีการเพาะเลี้ยง ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่า 1,350 ล้านบาท/ปี บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) การศึกษาคุณภาพเนื้อสุกรจากสายพันธุ์ที่แตกต่างกันโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ในเชิงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณค่าทางโภชนะ เพื่อให้ประชาชนได้รับและบริโภคเนื้อสุกรที่มีรสชาติและคุณภาพสูง บริษัท ที-ไฟเบอร์ จำกัด วิจัยการผลิตไฟเบอร์คุณภาพสูง จากกากมันสำปะหลัง เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารสุขภาพและอาหารผู้ป่วย บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง ได้พัฒนาการผลิต glucose polymer จากแป้งมันสะปะหลัง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วย และสามารถใช้เป็นสารเคลือบกลิ่นรส (encapsulate) เพื่อให้คงรสชาติที่ต้องการ แม้ผ่านกระบวนการผลิตด้วยความร้อนสูง บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาอุปกรณ์ประมวลค่าความชื้นและอุณหภูมิให้แก่ บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้สามารถเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ได้กับทุกยี่ห้อ และสามารถเชื่อมต่อกับระบบควบคุมการเลี้ยงของโรงเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการลดปัญหาและข้อจำกัดในการใช้ชุดควบคุมหลายประเภท สามารถลดต้นทุนได้ทั้งหมด 14.82 ล้านบาท ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ประเทศไทยต้องหนีจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเทคโนโลยีแสงขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมและสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ