กรุงเทพ--11 ก.ค.--ปตท.
โครงการท่อส่งก๊าซฯ ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ล่าสุดแต่งตั้ง คณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ป่าและป่าไม้ ทั้งก่อนและหลังก่อสร้าง เผยผลสำรวจผู้บริหารโรงเรียนในกาญจน์ ร้อยละ 90 เห็นว่าโครงการท่อก๊าซฯ พม่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศจริง
นายไพบูลย์ อำมสุทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี แถลงสาระสำคัญจากผลการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาสหภาพพม่า ครั้งที่ 5/2540 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 ที่ผ่านมาว่าจากแผนการศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสัตว์ป่าและป่าไม้ ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนงานที่ ปตท. จัดทำขึ้นเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ที่ประชุมต้องการให้มีความชัดเจนในเชิงระบบนิเวศโดยรวมและเป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบทั้งในระยะก่อนและหลังการก่อสร้างโครงการ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ติดต่อคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านมารับผิดชอบทำการศึกษาวิจัยผลกระทบแต่ละแผนงาน ดังนี้
1. การศึกษาและประเมินความสามารถในการปรับตัวได้ของสัตว์ป่าในระยะก่อสร้าง
1.1 แผนงานศึกษาวิจัยช้างป่า โดย น.ส.มัทนา ศรีกระจ่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านช้างป่าส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมป่าไม้
1.2 แผนงานศึกษาวิจัยค้างคาว โดย นางกัลยาณี บุญเกิด หัวหน้ากลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนวิจัยสัตว์ป่า กรมป่าไม้
1.3 แผนงานศึกษาวิจัยนก โดย นายสวัสดิ์ วงศ์ถิรวัฒน์ นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม ส่วนวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้
1.4 แผนงานศึกษาวิจัยสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย นายจารุจินต์ นภีตะภัฎ ผู้อำนวยการกองธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
1.5 แผนงานศึกษาวิจัยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กำลังอยู่ในระหว่างการติดต่อผู้เชี่ยวชาญรับผิดชอบทำการศึกษา
ระยะเวลาการศึกษาวิจัยของแต่ละแผนงานประมาณ 1 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 จนถึงเดือนมิถุนายน 2541 หรือเริ่มงานทันทีที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัดจนเสร็จสิ้นการก่อสร้าง
2. การติดตามและตรวจสอบผลกระทบต่อสัตว์ป่าและป่าไม้ในระยะก่อสร้าง
2.1 แผนงานศึกษาความหลากหลายพรรณไม้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟู สภาพป่า โดย ดร.ก่องกานดา ชยามฤต นักวิทยาศาสตร์ ส่วนพฤกษศาสตร์ กรมป่าไม้ใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัยเช่นเดียวกับแผนงานข้างต้น
2.2 แผนงานติดตามและตรวจสอบผลกระทบต่อสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่ในระยะก่อสร้าง โดยนายสวัสดิ์ วงศ์ถิรวัฒน์ และคณะ ระยะเวลาศึกษาวิจัยจะเริ่มต้นพร้อมการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นการก่อสร้างในพื้นที่ผ่า ช่วงประมาณกิโลเมตรที่ 0-30 ของแนววางท่อก๊าซ
สำหรับผลการศึกษาจะนำมาผนวกเข้ากับผลการศึกษาที่ได้ทำไว้เบื้องต้น (EIA) ทั้งเพื่อเป็นการตรวจสอบ และเพื่อความมั่นใจในการนำไปพิจารณางานวิศวกรรมก่อสร้างให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อสัตว์ป่าและป่าไม้ อีกทั้งจะมีประโยชน์ในแง่นำไปใช้ในการฟื้นฟูสภาพหลังท่อกลบฝัง และยังมีประโยชน์ในระยะยาวที่จะร่วมพิจารณาจัดทำโครงการอนุรักษ์สัตว์ และผืนป่าอย่างถาวรต่อไป
ในการดำเนินงานดังกล่าว ที่ประชุมมีความเห็นเปิดกว้างให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเข้าร่วมในการศึกษา ร่วมดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่ประเทศและส่วนรวมด้วย
นอกจากนี้นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน และสถาบันการศึกษา ในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสามัญศึกษาจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จำนวน 116 รายต่อโครงการท่อส่งก๊าซฯ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาผลปรากฎว่าผู้บริหารฯ จำนวน 106 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.38 เห็นด้วยกับโครงการท่อส่งก๊าซฯ โดยให้เหตุผลซึ่งสรุปได้คือ เห็นว่าโครงการนี้เป็นการเตรียมจัดหาแหล่งพลังงานสำรองไว้ โดยเฉพาะเพื่อการผลิตไฟฟ้า, ทราบดีว่าก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกกว่าพลังงานอื่น และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย อีกทั้งดีกว่าการสร้างเขื่อน และมั่นใจว่าทางโครงการฯ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล วางใจได้เรื่องความปลอดภัย--จบ--