กรุงเทพ-28 พ.ค.--บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
EW จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งเดียว (ทั้งในประเทศไทยและเอเซีย) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคประเภทน้ำประปา ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่นเดียวกับไฟฟ้าและอื่นๆ สำหรับประเทศไทยที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม ทำให้การลงทุนของรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่สามารถตอบสนองได้เพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดังกล่าว โดยภาครัฐจะสนับสนุนทั้งด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนและข้อสัญญาต่างๆ ที่จะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนสูงสุด ดังนั้นในด้านปัจจัยพื้นฐานของ EW จึงมีความพร้อมอย่างสมบูรณ์ ปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดเพื่อการลงทุนจึงเป็นเรื่องของราคาที่เหมาะสม CNS ใช้วิธีการประเมินมูลค่ากิจการโดยวิธีหามูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) โดยใอัตราส่วนลดที่ร้อยละ 15 (IRR=20%) ซึ่งจะมีมูลค่าต่อหุ้นประมาณ 23.00 บาท ซึ่งนักลงทุนสามารถจองได้โดยการเพิ่ม Premium จากราคา NPV ที่ใช้ร้อยละ 5 - ร้อยละ 10 ซึ่งจะอยู่ที่ระดับ 25-26 บาท/หุ้น
บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) : EW ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยมีการประปาส่วนภูมิภาค และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นด้วยสัดส่วนร้อยละ 89.80 และร้อยละ 10.20 ตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจในการพัฒนาและบบริการทรัพยากรน้ำ และระบบท่อส่งน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย (พื้นที่ดอกราย-มาบตะพุด-สัตหีบ และพื้นที่หนองค้อ-แหลมฉบัง-พัทยา-บางพระ) และมีบริการเสริมคือการให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมแก่ลูกค้า (โดยมีสัดส่วนของรายได้ร้อยละ 99, 68 และร้อยละ 0.32 ตามลำดับ ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้า 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม 2) โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม และ 3) อุปโภคและบริโภคซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่คือการประปาส่วนภูมิภาค
ถึงแม้ว่าการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะทำให้โครงสร้างของผู้ถือหุ้นกระจายไปสู่รายย่อยมากขึ้น และไม่ได้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจดังเช่นในอดีต อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเดิม คือ การประปาส่วนภูมิภาคและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนั้น ความไม่แน่นอนของนโยบายของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทจึงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างไร เช่น การซื้อน้ำจากกรมชลประทาน และการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในการวางระบบท่อส่งน้ำ เช่น กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย ในกรณีวางท่อผ่านทางถนนหรือทางรถไฟ และกรมเจ้าท่า ในกรณีวางท่อในแม่น้ำหรือสูบน้ำขึ้นจากแม่น้ำ เป็นต้น
ความต้องกาใช้น้ำในภาคตะวันออกมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.43 ต่อปี หรือประมาณ 619 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ในขณะที่ปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้มีเพียง 305 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ทั้งนี้นอกจากการเพิ่มขึ้นของประชากรแล้ว ยังเป็นผลต่อเนื่องมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ส่งผลให้มีการขยายชุมชนออกไป ซึ่งเมื่อความเจริญกระจายมากขึ้น ย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตและมาตรฐาน การครองชีพที่สูงขึ้น และส่งผลให้อัตราการใช้น้ำต่อบุคคลสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดีจากกำลังการผลิตที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ ปัจจุบันกรมชลประทานจึงมีโครงการที่จะพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 10 แห่ง โดยมีปริมาณน้ำที่สามารถใงานได้ 1,278.4 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และจะสามารถเริ่มทะยอยกระจายน้ำได้ในตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นไป ดังนั้นบริษัทจึงสามารถรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบท่อส่งน้ำในพื้นที่นี้เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น
สำหรับภาวะการแข่งขันในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากบริษัทได้รับมติจากคณะรัฐมนตรีในการที่จะซื้อน้ำจากแหล่งของกรมชลประทาน ซึ่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกแหล่งน้ำส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งน้ำที่กรมชลประทานเป็นผู้ดูแลทั้งสิ้น สำหรับแหล่งน้ำอื่นๆ เช่น บ่อบาดาล ก็มีข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ นอกจากนี้ราคาจำหน่ายน้ำของบริษัทจะมีราคาต่ำกว่าราคาจำหน่ายน้ำของเอกชนประมาณ 30-40 บาท/ลูกบาศก์เมตร ประกอบกับอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ คือ เงินลงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าท่อส่งน้ำ ค่าก่อสร้าง อีกทั้งการวางท่อเพื่อให้บริการกับผู้ใช้น้ำมีความจำเป็นที่จะต้องว่างท่อผ่านที่สาธารณะ จึงต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ มิฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องเช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อใช้สำหรับวางท่อ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนโครงการสูงมาก--จบ--