กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
พิษณุโลก อนุมัติงบ 5 ล้าน เดินหน้าพัฒนาศักยภาพการผลิตการเกษตรในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หวังให้ชุมชนในเขตพื้นที่โครงการฯ หวังพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้าน สศก.2 พร้อมติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการ ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานบูรณาการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศก.2) เปิดเผยในฐานะคณะทำงานโครงการบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตรในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก ปีงบประมาณ 2558 ว่า จังหวัดพิษณุโลกได้ประกาศวาระจังหวัดเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล เป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมชุมชนอย่างทั่วถึงเป็นวงกว้าง โดยได้นำแนวทางพัฒนาเพื่อดำเนินการในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งมีในหลายพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ พื้นที่โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนบำรุงแดน พื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว พื้นที่มูลนิธิชัยพัฒนา พื้นที่ตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ(ปิดทองหลังพระ) และพื้นที่โครงการที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น พื้นที่บูรณาการการพัฒนาเกษตรครบวงจร พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
ทั้งนี้ ในบางพื้นที่มีสภาพเป็นป่าไม้แหล่งต้นน้ำที่จะต้องฟื้นฟูอนุรักษ์เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าและใช้ป่ากับน้ำเป็นแหล่งอาหารควบคู่กันไป บางพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีสูง ประกอบกับราษฎรยังมีฐานะยากจน ต้องการความช่วยเหลือดูแลสนับสนุนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในการสร้างแหล่งผลิตอาหารเพื่อบริโภคให้เพียงพอต่อการดำรงชีพภายในครอบครัว
ดังนั้น จังหวัดพิษณุโลกจึงได้มีมติอนุมัติงบเงินประมาณ 5 ล้านบาท ในปี 2558 เพื่อให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมบูรณาการทำงานโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้เกษตรกร ราษฎร ยุวเกษตรกร และนักเรียน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้แบบ "พออยู่ พอกิน" ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เชื่อมโยงกับการตลาดในชุมชน สนับสนุนการพัฒนาอาชีพทางการเกษตรด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และเกษตรผสมผสาน เพื่อสร้างรายได้และผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนอย่างพอเพียง ทั้งยังสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและขยายผลการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติจริงในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนา Smart Farmer และ Smart Officer ให้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ ให้ชุมชนในพื้นที่โครงการฯ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้นำความรู้ไปปฏิบัติให้พึ่งพาตนเองได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับคนและชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว สศก.2 ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการ ใน 5 กิจกรรมหลัก รวม 16 กิจกรรมย่อย ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานบูรณาการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 10 หน่วยงาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1,2,3 และ ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งขณะได้นี้ดำเนินงานเสร็จสิ้นไปกว่า ครึ่งเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการประเมินผลเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้ ไม่น้อยกว่า 2,000 ราย นายชวพฤฒ กล่าว